คาด ‘งู’ แหล่งรังโรค ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’

2020-01-24 07:50:42

คาด ‘งู’ แหล่งรังโรค ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’

Advertisement

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเมดิคัล ไวโรโลจี (Medical Virology) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (22 ม.ค.) บ่งชี้ความเป็นไปได้สูงสุดว่า “งู” อาจเป็นสัตว์ป่าที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีนแล้ว 18 คน

คณะนักวิทยาศาสตร์จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน สังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง, โรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์จีนกว่างซี, โรงพยาบาลรุ่ยคังในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์จีนกว่างซี, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยหนิงโป และมหาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์อู่ฮั่น ได้ร่วมกันวิเคราะห์ลำดับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดล่าสุด

คณะนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีที่เรียกว่า “การใช้รหัสพันธุกรรมที่มีความหมายเหมือนกัน” (relative synonymous codon usage – RSCU) เพื่อเปรียบเทียบลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA) หรือกรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic acid) ของสัตว์ชนิดต่างๆ




งูเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกจำหน่ายในตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนาน (Huanan Seafood Wholesale Market) ของอู่ฮั่น ซึ่งถูกสั่งปิดชั่วคราวในปัจจุบันและเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะเป็นไวรัสสายผสม (recombinant) ระหว่างไวรัสโคโรนาของค้างคาวและไวรัสโคโรนาจากอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบที่มา



การผสมกันของไวรัสเกิดขึ้นภายในสไปค์ไกลโคโปรตีน (spike glycoprotein) ซึ่งเป็นหน่วยรับที่ยื่นออกมานอกเยื่อหุ้มเซลล์ โดย “งู” เป็นสัตว์ป่าที่น่าจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากที่สุด เมื่อเทียบสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยอ้างอิงการวิเคราะห์ด้วยวิธีการใช้รหัสพันธุกรรมที่มีความหมายเหมือนกัน

เมื่อนำผลลัพธ์มาประกอบกัน ผลการวิจัยจึงชี้ว่าการผสมกันแบบคู่เหมือน (homologous recombination) ภายในสไปค์ไกลโคโปรตีนอาจนำไปสู่การถ่ายโอนข้ามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตจาก “งูสู่มนุษย์”

ทั้งนี้ ไกลโคโปรตีนเป็นกลุ่มโปรตีนที่รวมตัวกันโดยมีคาร์โบไฮเดรตปะปนอยู่เล็กน้อย



ส่วนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าหน่วยงานสาธารณสุขของจีนได้บรรจุจีโนม (genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมเต็มรูปแบบของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในฐานข้อมูลลำดับพันธุกรรมของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) และโครงการริเริ่มระดับโลกสำหรับการแบ่งปันข้อมูลไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด (GISAID) แล้ว