หอมหวนยวนยั่วเกินห้ามใจ ! "ภาม" ไขข้อสงสัย "ดีน" ความต่างระหว่าง "จ่ามงกุฎ" กับ "ดาราทอง" (ด้ายแดง)

2020-01-13 19:10:41

หอมหวนยวนยั่วเกินห้ามใจ ! "ภาม" ไขข้อสงสัย "ดีน" ความต่างระหว่าง "จ่ามงกุฎ" กับ "ดาราทอง" (ด้ายแดง)

Advertisement




หลังจากที่คู่รักนักศึกษาของเราทำโป๊ะแตกจนเพื่อนๆ รู้ว่านอนเตียงเดียวกันทั้งค่ำคืน ก็ถึงคราวที่ "น้องภาม" ต้องลงครัวแสดงฝีมือทำขนมไทยโบราณที่หาทานยากยิ่งให้ "พี่ดีน" และเพื่อนๆ ลองชิมกัน ซึ่งขณะที่กำลังขะมักเขม้นอยู่หน้าเตานั้น ฝ่ายคนพี่ก็เดินเข้ามาสนทนาด้วยวาจาแสนสุภาพ บังเอิญสายตาหนุ่มดีนก็พลันเห็นว่าขนมบนเตาที่น้องภามกำลังกวนๆ เคี่ยวๆ อยู่นั้น หาใช่สิ่งที่ตนเข้าใจมานานนมไม่ โดยคนพี่ถามน้องไปว่า "ทำขนมอะไรหรอ ?" ซึ่งคนน้องก็ตอบไปตามจริงว่า "ขนมจ่ามงกุฎครับ" คำตอบของคนน้องยิ่งทำเอาความสงสัยผุดขึ้นในหัวราวดอกเห็ด จึงถามกลับไปอีกว่า "จ่ามงกุฎมันไม่ใช่สีเหลืองๆ ส้มๆ หรอ ที่หน้าตาเหมือนมงกุฎฟักทอง" 





งานนี้ "น้องภาม" คนเก่งจึงร่ายยาวๆ เอาความจริงมาฝากให้ทุกๆ คนรวมทั้งคนรักหายข้องใจ ว่า

"นั่นมันขนมดาราทอง หรือ ทองเอกกระจังครับ"




ขนมทองเอกกระจัง หรือ ดาราทอง

ซึ่ง ดาราทอง นั้นเป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบหลักคือขนมทองเอก (ทำจากแป้งสาลี ไข่แดง กะทิ และน้ำตาล) ปั้นเป็นทรงกลมแป้นเล็กน้อย บากให้เป็นร่องๆ คล้ายผลมะยมหรือผลฟักทอง แล้วนำไปวางบนจานแป้งเล็ก ๆ ที่ติดขอบด้วยเมล็ดแตงโมกวาดน้ำเชื่อม (กวาดให้น้ำตาลแห้งเกาะเมล็ดเป็นหนาม) จากนั้นประดับยอดด้วยแผ่นทองคำเปลวที่กินได้

ทองเอกกระจังได้รับการประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นโดยนารถ สิงหเสนี โดยใช้ทองเอกเป็นขนมต้นแบบและใช้เมล็ดแตงโมวางรอบๆ จนดูเหมือนลายกระจัง จึงเรียกว่า "ทองเอกกระจัง" ต่อมาคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ผู้เป็นหลานได้ทำขนมชนิดนี้ส่งเข้าประกวดในงานฉลองปีใหม่สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเปลี่ยนชื่อขนมเป็น "ดาราทอง" เนื่องจากยังมีลักษณะคล้ายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นรูปดาวเปล่งรัศมี เมื่อขนมชนะการประกวดจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง




ขนมดาราทอง หรือขนมทองเอกกระจัง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ดาราทองเป็นขนมที่หลายคนสับสนและคิดว่าเป็นจ่ามงกุฎ ซึ่งที่จริงเป็นชื่อขนมไทยอีกชนิดหนึ่ง






ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่จะยังเข้าใจผิดว่า ขนมดาราทองหรือทองเอกกระจังนั้นเป็น "ขนมจ่ามงกุฎ" จนจ่ามงกุฎตัวจริง ซึ่งเป็นขนมไทยโบราณ ปรากฏใน “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ปัจจุบันหากินยากเต็มทีแทบจะเลือนหายไปจากสารบบขนมไทย

ซึ่ง ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม นิยาม “จ่ามงกุฎ” ไว้ว่า

“จ่ามงกุฎ เป็นชื่อขนมไทยอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งถั่วเขียวกวนกับกะทิและน้ำตาลทรายขาว จนเหนียวคล้ายกะละแมสีขาว นำใบตองอ่อนที่รีดจนเรียบมาห่อเป็นห่อเล็ก ๆ ใส่ไส้ถั่วลิสงคั่วทั้งเมล็ด หรือเมล็ดแตงโมกะเทาะเปลือกแล้วก็ได้

ชื่อขนมจ่ามงกุฎนี้บางคนสับสนนำไปเรียกขนมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ดาราทอง หรือ ขนมทองเอกกระจัง ซึ่งเป็นขนมทองเอกปั้นกลมๆ มียอดปิดทอง วางบนจานแป้งเล็กๆ ที่ติดขอบด้วยเมล็ดแตงโมกวาดน้ำตาล...”






อย่างไรก็ตาม "ขนมดาราทอง" หรือ "ทองเอกกระจัง" เป็นขนมรุ่นน้อง "ขนมจ่ามงกุฎ" เพิ่งเกิดขึ้นจากการชนะการประกวดในงานฉลองปีใหม่ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนี่เอง นับอายุอานามแล้วไม่ถึงร้อยปี ขณะที่ถ้านับอายุจ่ามงกุฎ ซึ่งปรากฏชื่อสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ร่วมสองร้อยปีแล้ว และไม่แน่ว่าอาจจะมีมานานก่อนหน้านั้น แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน

ความที่ดาราทองมีเมล็ดแตงโมประดับบนตัวขนม จึงมีลักษณะคล้ายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นรูปดาว จึงเป็นที่มาของชื่อ ดาราทอง และขนมนี้ใช้สูตรเดียวกับการทำทองเอก จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ทองเอกกระจัง แต่เหตุที่ดาราทองมีลักษณะคล้ายมงกุฎของฝรั่ง คนทั่วไปจึงเข้าใจว่านี่คือ ขนมจ่ามงกุฎ


ขนมจ่ามงกุฎ ขนมรุ่นพี่ของดาราทอง

ถ้าพูดถึงความแพร่หลายของขนมทั้งสอง ดาราทองนั้นหากินได้ง่ายกว่า ร้านขนมไทยในกุรงเทพฯ บางร้านยังมีขาย ที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และที่จังหวัดเพชรบุรีก็มี แต่จ่ามงกุฎนั้นพบเพียงที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 2 และตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้อนุรักษ์ไว้ ด้วยทรงเกรงว่าจะสูญหายไปในอนาคต

ที่มา : สารคดี สถาพรบุ๊คส์
เรียบเรียบ : ทีมข่าวสกู๊ปพิเศษนิว 18



และเมื่อ "ดีน" นำขนมจ่ามงกุฎที่ "ภาม" ทำไปให้คุณย่าลองชิม ในแว๊บแรกที่คุณย่าแกะห่อกลีบบัวสีชมพูระเรื่อแง้มให้เห็นเนื้อขนมสีเขียวอ่อนๆ ด้านใน คุณย่าถึงกับน้ำตาไหลออกมา และรู้ทันทีว่าคือขนมจ่ามงกุฎ คุณย่าหยิบขนมมาดมกลิ่น พร้อมเอ่ยชมว่าคนทำเก่งเพราะกลิ่นนั้นหอมหวานมากๆ

นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกให้ผู้ชมทราบว่า ขนมไทยชนิดนี้ไม่ใช่ขนมดาษดื่นที่วัยรุ่นยุคใหม่หรือใครๆ จะรู้จักกันโดยทั่วไป ผู้เขียนจึงมีความรู้สึกว่า ในยุคสมัยที่อะไรๆ เกิดขึ้นใหม่ อาหารคาวหวานมีการเปลี่ยนแปลง และต่างถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยเข้ากับคนในยุค แต่สิ่งหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ กำลังจะละเลยและสิ่งเหล่านั้นอาจมลายหายไปกับกาลเวลา นั่นคือมรดกภูมิปัญญาที่เคยสืบทอดกันมายาวนาน สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีค่าล้ำเกินประเมินได้ พวกเราควรยกย่องภูมิปัญญาด้านอาหารเหล่านั้น ปลุกมันขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนดังที่ผู้เขียนนิยายเรื่อง "ด้ายแดง" (until we meet again) เห็นความสำคัญ และปลุกขนมไทยโบราณเหล่านั้นสอดแทรกพร้อมเป็นสะพานเชื่อมต่อเรื่องราวเนื้อเรื่องให้น่าสนใจและเป็นจุดขายเป็นที่โด่งดัง



ดีน ภูมิใจที่แฟนทำขนมเก่งจนคุณย่าเอ่ยชม


ขนมไหนเลยจักหอมกรุ่นยวนเย้าเท่ากายเจ้า ภามเอย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เขินตัวบิด "ดีน" รุกทวงถามดอกเบี้ย "ภาม" ไฉนไปจบบนเตียง ?