อินเดียประท้วงกฎหมายสัญชาติกีดกันชาวมุสลิมต่อเนื่อง

2019-12-17 08:15:00

อินเดียประท้วงกฎหมายสัญชาติกีดกันชาวมุสลิมต่อเนื่อง

Advertisement

การประท้วงรุนแรง ลุกลามทั่วอินเดียเมื่อวันอาทิตย์ต่อเนื่องวันจันทร์ ในการแสดงพลังต่อต้านร่างกฎหมายว่าด้วยสถานะพลเมือง หรือกฎหมายสัญชาติ (ซีเอบี) ที่สร้างความขัดแย้งของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะยิ่งเป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในอินเดีย

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า การประท้วงเกิดขึ้นใน 9 รัฐ ซึ่งรวมทั้งเมืองใหญ่อย่างโกลกาตา, มุมไบ, เจนไน, ไฮเดอราบัด และกรุงนิวเดลี เมืองหลวงอินเดีย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน การประท้วงในรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เกิดความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน

สำหรับในกรุงนิวเดลี นักศึกษาเริ่มก่อหวอดประท้วงที่มหาวิทยาลัย “จาเมีย มีเลีย อิสลาเมีย” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชื่อดังของชาวมุสลิมในช่วงเช้าวันอสาทิตย์ โดยมีประชาชนประมาณ 2,000 คนเข้าร่วม มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนและถูกจับกุมหลายสิบคน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วย จากการเปิดเผยของนัจมา อัคตาร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย

นักศึกษาที่ประท้วง กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า พวกเขาถูกตีด้วยกระบองและท่อนไม้ มีผู้บาดเจ็บ 200 คนจากข้อมูลของคณะบริหารมหาวิทยาลัย แต่ก็ขัดแย้งกับตัวเลขของสำนักงานตำรวจกรุงนิวเดลี ที่ระบุว่า ตำรวจไม่ได้พกพาอาวุธและใช้กำลังน้อยที่สุดในการควบคุมฝูงชน




การประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติในอินเดียยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 5 แล้วในวันจันทร์ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และกล่าวว่า การประท้วงกำลังสร้างความยากลำบากมากขึ้น โดยนายโมดีทวิตข้อความว่า ชาวอินเดียไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเกี่ยวกับการกระทำของรัฐบาล เพราะกฎหมายฉบับนี้เพื่อผู้อพยพที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากประเทศของพวกเขา และไม่มีที่ไปแล้ว นอกจากอินเดีย เวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ, เอกภาพและภราดรภาพ

ส่วนนางโซเนีย คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก กล่าวหารัฐบาลสร้างบรรยากาศความตึงเครียดทางศาสนาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่พรรคคองเกรส กล่าวหารัฐบาลว่าประกาศสงครามกับประชาชน



การประท้วง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 คน เริ่มขึ้นในรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก่อนลุกลามไปในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและตะวันออก แต่ประชาชนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเหตุการลงถนนประท้วง ซึ่งบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ต่อต้านชาวมุสลิม ขณะที่บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ตะเข็บชายแดน กลัวว่า กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสู่อินเดียมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแย่งพื้นที่ทำกินและแย่งงาน

ความโกรธแค้นต่อร่างกฎหมายสัญชาติ ซึ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กำหนดให้มอบสัญชาติโดยเร็วแก่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ซึ่งรวมทั้งชาวฮินดู, ซิกข์, พุทธ, เชน, ปาร์สี และคริสต์ จากประเทศอัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ และปากีสถานที่อพยพเข้าอินเดียอย่างผิดกฎหมายก่อนปี 2558 แต่การยกเว้นชาวมุสลิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดี กล่าวว่า ชาวมุสลิมใน 3 ประเทศนี้ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย เพิ่มความวิตกกังวลว่าอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญของประเทศ ที่กำหนดให้เป็นกลางในการนับถือศาสนา และทำให้เกิดแนวคิดต่อต้านมุสลิมในอินเดียเพิ่มมากขึ้น