“4 เรือพระที่นั่งสำคัญ” ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

2019-12-11 16:10:59

“4 เรือพระที่นั่งสำคัญ” ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

Advertisement

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ในครั้งนี้ มีเรือพระราชพิธีเข้าร่วมขบวนทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,399 นาย การจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นการจัดรูปขบวนตามโบราณราชประเพณี โดยแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย คือ ริ้วสายกลาง ริ้วสายใน และริ้วสายนอก

เรือที่สำคัญในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรียงตามลำดับในขบวน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช อยู่ลำดับที่ 1 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อยู่ลำดับที่ 2 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ อยู่ลำดับที่ 3 และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 อยู่ในลำดับที่ 4 โดยเรือพระที่นั่งแต่ละลำมีประวัติความเป็นมา และมีลักษณะโดดเด่นสวยงาม ดังนี้

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช โขนเรือเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบก สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ หรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน




เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำแรกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นมาใหม่ หลังได้รับความเสียหาย  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร กำลังพลประจำเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ประกอบด้วยนายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 54 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 3 นาย รวม 72 นาย

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 44.90 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร ส่วนหัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประดับด้วย พู่ห้อย ทำด้วยขนจามรีจากประเทศเนปาล มีลักษณะขนสีขาว นุ่มละเอียด นำมาประกอบเป็นชั้น ๆ



เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091 กำลังพลประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนขานยาว 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย  รวม 71 นาย

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “อเนกะชาตะภุชงคะ” แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือโดยเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่โขนเรือไม่สร้างเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี และโขนเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็ก ๆ จำนวนมาก ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร กำลังพลประจำเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 61 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย  คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย  รวม 82 นาย



เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นโดยกองทัพเรือ และกรมศิลปากร ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อพุทธศักราช 2539โดยนำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 เป็นต้นแบบ หัวเรือทำจากไม้สักทองแกะสลักเป็นรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือ จักร สังข์ คฑา และตรีศูล หัวเรือเบื้องใต้พระครุฑพ่าห์ เป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย  รวม 71 นาย

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรกมีประเพณีโบราณ “กระบวนพยุหยาตราชลมารค”

“รูปแบบริ้วขบวนพยุหยาตราฯ” งดงามเหนือลำน้ำเจ้าพระยา

ท่าเรือหลวง “วาสุกรี” ชื่อนี้มีที่มา

เปิด 19 จุดคัดกรอง ชมขบวนเรือพระราชพิธี 12 ธ.ค.นี้