"ดร.ธรณ์"ชี้งานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลเสิร์ฟ “หูฉลาม” ฝ่ายปฏิบัติไม่รอบคอบ

2019-12-04 22:50:26

"ดร.ธรณ์"ชี้งานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลเสิร์ฟ “หูฉลาม” ฝ่ายปฏิบัติไม่รอบคอบ

Advertisement

"ดร.ธรณ์"ชี้งานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลเสิร์ฟเมนู “หูฉลาม” เป็นความไม่รอบคอบของฝ่ายปฏิบัติ เสนอแนะรัฐบาล 3 ข้อ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า วันนี้คือวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม) แต่มีข่าวเรื่องโต๊ะจีนหูฉลาม โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นความไม่รอบคอบของฝ่ายปฏิบัติที่จัดเมนูเสิร์ฟหูฉลามในงานของพรรคร่วมรัฐบาลในยุคที่คนไทยกำลังเลิกกินสัตว์หายากเหล่านี้ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากจนกลายเป็นการพาดหัวข่าว สร้างความเศร้าให้คนรักธรรมชาติ

อันดับแรก ท่านที่ร่วมงานล้วนเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นผู้ร่วมคณะรัฐบาลที่ประกาศนโยบายเสมอว่า เรายึดมั่นในการดูแลรักษาธรรมชาติ เราเชื่อในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพยายามดำเนินการตาม SDG14 (life below water) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะท่าน รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งทำงานทุ่มเทต่อเนื่อง แต่กลับอยู่ร่วมบนโต๊ะจีนที่มีการเสิร์ฟหูฉลาม

อันดับที่สอง เป็นการส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการอนุรักษ์ของผู้นำรัฐบาล อันได้แก่ ท่านนายกฯ ผู้เคยพูดถึงเรื่องการเลิกกินหูฉลาม ในวันสิ่งแวดล้อมโลก (29 มิ.ย. 2559)

อันดับที่สาม เป็นการจัดงานก่อนวันสิ่งแวดล้อมไทยซึ่งข่าวก็จะออกในวันนี้ (4 ธ.ค.)

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าหลายท่านบนโต๊ะไม่กินซุปหูฉลาม ไม่ต้องการให้มีการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม บางท่านอาจอึ้งเมื่อพบว่ามีเมนูนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกิดได้เพราะบางครั้งผมก็ไปร่วมงานโดยไม่ทราบ รู้อีกทีมีหูฉลามมาเสิร์ฟแล้ว แน่นอนว่าผมไม่กินและเมื่อผมไม่กินจะมีผู้ร่วมโต๊ะมองดู บางคนแซวว่าไม่กินเหรอ ผมก็ถือโอกาสอธิบายเรื่องความโหดร้ายของหูฉลาม จนบางคนพลอยกินไม่ลงไปด้วย แต่นั่นเป็นผมผู้คงไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้

แต่สำหรับผู้บริหารระดับรัฐบาล คงสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงใคร่ขอเสนอแนะไว้ดังนี้

1. เงียบไปเลย เดี๋ยวข่าวก็ผ่านไปแต่แน่นอนว่า ประเด็นหูฉลามไม่ใช่เรื่องที่ผ่านมาผ่านไปมันเป็นกระแสโลกมานาน และนับวันมีแต่จะมากขึ้น หากไม่ทำอะไรเลย อีกไม่นานมันก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซ้ำไปซ้ำมา เพราะสำหรับเมืองไทยแล้ว หูฉลามกับนักการเมืองแทบเป็นของคู่กัน เกิดทีไร ภาพลักษณ์ของฝ่ายที่กินหูฉลาม ก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

2. พลิกวิกฤตในอดีตเคยมีข่าวคณะของท่านนายกฯ เสิร์ฟอาหารในกล่องโฟมและพลาสติกใช้แล้วทิ้ง แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง สังห้ามและยกเลิกการใช้นั่นเป็นทางออกที่ดี เช่น ท่านนายกฯ ประกาศให้ชัดว่า ไม่ประสงค์จะไปร่วมงานใดๆ ที่เสิร์ฟหูฉลาม เพราะท่านไม่กินหูฉลาม และไม่อยากส่งเสริมให้เกิดการฆ่าสัตว์ชนิดนี้

หากไปให้ไกลยิ่งขึ้น อาจขอให้ท่าน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งหาทางอนุรักษ์ฉลาม ทำโรดแมปให้ชัดเจนเหมือนขยะทะเล ทำเช่นนี้จะเกิดประโยชน์มาก เพราะมีฉลามหลายชนิดที่จ่อคิวรอขอเป็นสัตว์คุ้มครอง เช่น ฉลามหัวค้อน รวมทั้งเร่งออกระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม (พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม กำหนดสัตว์ที่ห้ามจับได้

3. เน้นย้ำกับฝ่ายปฏิบัติทั้งหมดโดยเฉพาะฝ่ายด้านภาพลักษณ์ว่า โลกยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก และเมื่อเกิดเหตุแล้วโอกาสแก้ตัวมีน้อย เพราะมันไม่ใช่เรื่องแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจที่ขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งที่ใครๆ สมควรทำ กิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น หูฉลาม ปลานกแก้ว ขยะพลาสติก ฯลฯ เป็นประเด็นเสี่ยงสูงมาก ที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบทุกครั้งทุกกิจกรรม โดยไม่ต้องย้ำเตือน เพราะภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศในยุคนี้ ยิ่งกรีนเท่าไร่ย่อมยิ่งได้ความนิยม เช่น นายกนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนความชอบของคนไทยไปเพียบครับ