“วราวุธ” เผยประชาชนหนุนนโยบายงดแจกถุงพลาสติก (คลิป)

2019-12-04 16:20:41

“วราวุธ” เผยประชาชนหนุนนโยบายงดแจกถุงพลาสติก (คลิป)

Advertisement

“วราวุธ” เปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทย วันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ย้ำ 1 ม.ค. 63 งดถุงพลาสติกหูหิ้ว เผยประชาชนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ปรับเปลี่ยนตัวเองบ้างแล้ว

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. ของทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ดูแลโลก เพื่อให้โลก...ดูแลเราตลอดไป” ณ ฮอลล์ 4 อิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และคณะผู้บริหารร่วมด้วย ทั้งนี้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคล ชุมชน และองค์กรต้นแบบด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 76 รางวัล

นายวราวุธ กล่าวว่า นับจากจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2532 จากพระราชดำรัสของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และให้ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 ปีพอดี ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรเพิ่มมากขึ้น การใช้และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ย่อมมีมากขึ้นตามมา และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลโลกใบนี้ให้ยังคงอยู่เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อไป โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง เช่น การงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกลไกขับเคลื่อนการงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป และล่าสุดได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ กว่า 75 บริษัททั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ก็ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนร่วมกันด้วยการประกาศเจตนารมณ์งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วพร้อมกันทั่วประเทศ ในอีก 28 วันข้างหน้า ทั้งนี้ จากการรณรงค์อย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่องที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณห้างร้าน พ่อค้าแม่ค้า พี่น้องประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนส่งผลให้ประเทศไทยลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด จากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10 อีกทั้ง จากผลการสำรวจ ดุสิตโพล ยังพบว่า ประชาชน ถึงร้อยละ 90 เห็นด้วยกับนโยบายงดแจกถุงฯ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองกันบ้างแล้วถึง 91.28 เปอร์เซ็นต์ จึงขอเชิญชวนให้ร่วมมือและร่วมใจกัน คนละไม้ คนละมือในการดูแลโลกเพื่อให้โลก ดูแลเราตลอดไป


ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 2,032 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-15 พ.ย.2562 ที่มีต่อนโยบาย การงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป พบว่า 88.78 เปอร์เซ็นต์ ทราบถึงนโยบายงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว โดย 34.89 เปอร์เซ็นต์ ทราบจากสื่อโซเชี่ยลมีเดีย 89.86 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับนโยบายฯ ดังกล่าว และ 91.58 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบ้างแล้ว โดยไม่รับถุงพลาสติก 51.49 เปอร์เซ็นต์ พกแก้วน้ำ 21.38 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช้หลอดพลาสติก 13.27 เปอร์เซ็นต์ พกกล่องข้าว 10.15 เปอร์เซ็นต์ และ 3.08 เปอร์เซ็นต์ เตรียมถุงผ้า ตะกร้าไว้สำหรับซื้อของ รวมทั้ง ลดการใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ส่วนการเตรียมตัว กรณีวันที่ 1 ม.ค.2563 จะงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว พบว่าประชาชนเกือบครึ่ง หรือ 46.52 เปอร์เซ็นต์ ได้เตรียมถุงผ้าไว้ซื้อของ ขณะที่ 19.49 เปอร์เซ็นต์ จะนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ 86.71 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการพกถุงผ้าหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้

นอกจากนี้ 61.42 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการเก็บเงินหรือขายถุงพลาสติกหูหิ้ว ณ จุดชำระเงิน เพราะจะได้ปรับตัว ตื่นตัว และไม่ลืม โดย 35.49 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรนำเงินที่ได้ไปจัดตั้งกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 32.92 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรนำไปบริจาคให้มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อม และ 30.30 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรนำไปให้ภาครัฐจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง 77.46 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรมีกฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติก ขณะที่ 16.14 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรมีหรือไม่มีก็ได้ และ 6.40 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า ไม่ควรมีกฎหมายควบคุม สำหรับข้อเสนอแนะต่อการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สำหรับภาคประชาชน และภาครัฐ พบว่า 32.96 เปอร์เซ็นต์ แนะให้ภาคประชาชน พกถุงผ้า ตะกร้าสำหรับจับจ่ายซื้อของ 24.11 เปอร์เซ็นต์ แนะให้ปฏิเสธการรับถุง แก้ว และหลอดพลาสติก และ 9.89 เปอร์เซ็นต์ แนะ ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง ลดการใช้ หรือใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนในภาครัฐ 32.06 เปอร์เซ็นต์ แนะให้รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก 29.77 เปอร์เซ็นต์ แนะให้ออกกฎหมายบังคับ งดใช้ถุงพลาสติก และ 10.73 เปอร์เซ็นต์ แนะให้แจกถุงผ้า หรือมีจุดบริการถุงผ้า