ประเด็น ‘เบร็กซิต’ ยังทรงอิทธิพลบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งแดนผู้ดี

2019-11-20 14:10:04

ประเด็น ‘เบร็กซิต’ ยังทรงอิทธิพลบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งแดนผู้ดี

Advertisement

ลอนดอน, 18 พ.ย. (ซินหัว) — ขณะที่เบร็กซิต (Brexit) ยังคงเป็นประเด็นทรงอิทธิพล ที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงในวงการเมืองสหราชอาณาจักรและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ บรรดาผู้นำทางธุรกิจต่างมีความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องทลายทางตันเบร็กซิตในรัฐสภาให้ได้

ณ ที่ประชุมประจำปีของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.) ซึ่งมีผู้นำทางธุรกิจเข้าร่วมแน่นขนัด บรรดาผู้นำของพรรคการเมืองหลักของสหราชอาณาจักรแสดงทัศนะต่อประเด็นเบร็กซิตที่แตกต่างกันไป

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ระบุว่าประเทศกำลังถูกฉุดรั้งโดยการเมืองและรัฐสภา จึงถึงเวลาแล้วที่ความคลุมเครือเหล่านั้นต้องยุติลง พร้อมเสริมว่าเขาต้องการให้ปี 2020 เป็นปีแห่งการเติบโตและความอุดมสมบูรณ์ มิใช่การลงประชามติสองครั้ง ซึ่งหมายถึงการลงประชามติเบร็กซิตรอบที่ 2 และการลงประชามติแยกประเทศของสกอตแลนด์ กรณีพรรคแรงงานคว้าชัยในการเลือกตั้ง




ด้านเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวโจมตีพรรคอนุรักษนิยมว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศเสียเวลาไปกับเบร็กซิตถึง 3 ปี พร้อมระบุว่าพรรคแรงงานจะจัดการเรื่องเบร็กซิตให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ด้วยการเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่กับสหภาพยุโรป (EU) และจัดประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชนต่อข้อตกลงที่ได้

ส่วนโจ สวินสัน (Jo Swinson) ผู้นำพรรคแอลดี (LD) กล่าวว่าสหราชอาณาจักรควรยกเลิกเบร็กซิต และคงสถานะสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป เพราะไม่ว่าจะเกิดเบร็กซิตขึ้นในลักษณะใดก็ตามย่อมส่งผลร้ายต่อตำแหน่งงานและธุรกิจ



สมาพันธ์ฯ มีความเห็นว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับอียูควรเป็นการรักษาสภาพการค้าที่ไร้ความขัดแย้ง เดินหน้าปฏิบัติตามกฎตลาดเดียว (Regulatory Alignment) และสนับสนุนภาคบริการของประเทศ

“ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ทางเดียวที่เราจะสามารถฟื้นคืนเศรษฐกิจของเราได้คือต้องบรรลุความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับอียู เพราะการค้าครึ่งหนึ่งของเราอยู่ที่อียู และการค้าในอนาคตอีกร้อยละ 13 ก็อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าของอียู” จอห์น อัลลัน (John Allan) ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าว

ด้านแคโรลิน แฟร์แบร์น (Carolyn Fairbairn) ผู้อำนวยการสมาพันธ์ฯ กล่าวเตือนถึงอุดมการณ์อันสุดโต่ง



“ทางฝั่งขวา เราได้ฟังพิษภัยหรือแม้แต่ประโยชน์ของโนดีลเบร็กซิต (การออกจากสหภาพยุโรปอย่างไร้ข้อตกลง) เมื่อเสร็จสิ้นการเจรจาเบร็กซิตของเรา ขณะเดียวกันอุดมการณ์ทางฝั่งซ้ายอย่างน้อยก็เสี่ยงพอกัน พรรคแรงงานกำลังเสนอโครงการดึงหน่วยงานต่างๆ กลับคืนสู่รัฐครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรซึ่งต้องแบกรับต้นทุนมหาศาล โดยที่เงินที่คืนสู่กระเป๋าผู้เสียภาษีก็ยังไม่แน่นอน อีกทั้งแนวทางปรับปรุงการให้บริการผู้บริโภคก็ยังไม่ชัดเจน” แฟร์แบร์นกล่าว