รพ.จิตเวชหนุนผู้ป่วยทำกระทงฟื้นฟูจิตใจ (คลิป)

2019-11-11 10:35:59

รพ.จิตเวชหนุนผู้ป่วยทำกระทงฟื้นฟูจิตใจ (คลิป)

Advertisement

รพ.จิตเวชโคราชหนุนผู้ป่วยทำกระทง ฟื้นฟูจิตใจ กระตุ้นการทำงานสมอง ระบบประสาทสัมผัส สร้างสมาธิ เรียกความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ พร้อมจัดอ่างน้ำให้ผู้ป่วยได้ลอยกระทงจริง คลายความคิดถึงบ้าน


เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า เทศกาลวันลอยกระทงวันนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ โดยทีมสหวิชาชีพ ชมรมจริยธรรมของ รพ. ได้จัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาตัวใน รพ.มีเฉลี่ยวันละประมาณ 300 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 มีอาการสงบดีแล้ว ได้ร่วมสืบสานประเพณี เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจเหมือนอยู่ที่บ้าน และเอื้อต่อการฟื้นฟูจิตใจยิ่งขึ้น เนื่องจากเทศกาลลอยกระทงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผู้ป่วยเคยคุ้นเคยมาอยู่แล้ว โดยได้สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่อาการทางจิตสงบดีแล้ว จัดทำกระทง ออกแบบตามแนวความคิดของตนเอง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเช่นใบตอง ขนมปังกรอบที่ใช้เลี้ยงปลา มีหลายขนาด หลากสีสัน เพื่อใช้สำหรับลอยเองและทำเพื่อจำหน่ายให้บุคลากรและประชาชนที่มาใช้บริการที่รพ. สร้างรายได้ให้ผู้ป่วยด้วย โดยวางจำหน่ายที่แผนกผู้ป่วยนอก ราคาย่อมเยาเป็นพิเศษ

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ผลจากการที่ผู้ป่วยได้ทำกระทง ซึ่งเป็นงานศิลปะ มีความละเอียด สวยงาม จะเป็นการดึงสมรรถนะและศักยภาพของผู้ป่วยที่สูญเสียหรือบกพร่องไปขณะป่วยให้กลับคืนมาทั้งการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการทำงานของสมอง ระบบประสาทสัมผัสทั้งตา มือให้สัมพันธ์กัน ช่วยสร้างสมาธิให้ผู้ป่วย และงานกระทงเห็นผลสำเร็จได้เร็ว จะช่วยเรียกความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ ผู้ป่วยมีความหวังในการดำเนินชีวิตเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งในคืนลอยกระทง รพ.ได้จัดอ่างน้ำเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชได้อธิษฐาน สร้างความหวังในชีวิต และได้ลอยกระทงจริง สร้างความสุขและการมีส่วนร่วมทำความดีในการขอขมาแม่น้ำตามประเพณีไทย ช่วยคลายความคิดถึงบ้านด้วย


สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในชุมชนซึ่งมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งในเขตนครชัยบุรินทร์คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์มีกว่า 1 แสนคน ญาติสามารถพาไปร่วมกิจกรรมในวันลอยกระทงได้ จะเป็นผลดีต่อจิตใจของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกมีคุณค่า มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครอบครัวและสังคม ช่วยสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนดียิ่งขึ้น

กลุ่มที่2 คือกลุ่มเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ที่สำคัญ 4 โรคคือสมาธิสั้น ออทิสติก เด็กบกพร่องทางสติปัญญา และบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน ถึงแม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะเจ็บป่วยแต่ก็มีความต้องการความสนุกสนานเช่นเดียวกับเด็กปกติเช่นกัน จึงเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะสร้างความผูกพัน พาเด็กๆเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กทำกระทง เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมาย สอดแทรกการทำความดีทดแทนบุญคุณของธรรมชาติ โดยการขอขมาพระแม่คงคา เปรียบเสมือนเป็นการฝึกการขอโทษให้เด็กหลังจากที่ทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดี ผลดีจากการพาเด็กป่วยจิตเวชเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงนี้ นอกจากเด็กจะได้รับความสุขแล้ว จะส่งผลให้เด็กเห็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่น เกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำความดี รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย


ด้าน น.ส.นิศากร แก้วพิลา พยาบาลจิตเวช หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชหญิงทองอุไร รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยจิตเวช เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ทั้งด้านสังคม จิตใจ จิตวิญญาณให้ผู้ป่วยอย่างครบถ้วนที่สุดก่อนกลับไปอยู่ที่บ้านและชุมชน จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค หัวใจหลักคือการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยให้เกิดความหวังในชีวิต ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญให้ผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่เกิดจากความเจ็บป่วยและดำเนินชีวิตด้านต่างๆต่อไปได้เช่นการประกอบอาชีพ การศึกษา สุขภาพกายและจิต โดยผู้ป่วยจะมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้านคือ 1.มีภาพลักษณ์ด้านบวก ยิ้มแย้ม พูดคุย มีมนุษยสัมพันธ์เหมือนคนปกติทั่วไป 2.สามารถจัดการและอยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย 3. สามารถจัดการกับอาการที่หลงเหลืออยู่ได้ด้วยตนเอง และ4.พัฒนาบทบาททางสังคม เพื่อเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสังคม