ศาลอินเดียตัดสิน “มัสยิดบาบรี” สร้างทับที่โบสถ์พระราม คืนให้ชาวฮินดู

2019-11-10 06:10:03

ศาลอินเดียตัดสิน “มัสยิดบาบรี” สร้างทับที่โบสถ์พระราม คืนให้ชาวฮินดู

Advertisement


ศาลฎีกาของอินเดีย มีคำพิพากษาออกมาแล้วในวันเสาร์ ตัดสินใจสถานที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ภาคเหนือของอินเดีย เป็นของชาวฮินดู ซึ่งต้องการสร้างโบสถ์ขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ โดยคดีอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสถานที่แห่งนี้ระหว่างประชาชน 2 ศาสนายืดเยื้อมานานกว่า 100 ปี เป็นปัญหาหนึ่งในกรณีพิพาทเรื่องดินแดนที่มีการฟ้องร้องทางการเมืองมากที่สุดในอินเดีย ถือเป็นคดีที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ชาวฮินดูและมุสลิมเกิดความแตกแยกบาดหมางกันอย่างรุนแรงมานานหลายสิบปี กรณีที่ตั้งของมัสยิด “บาบรี” ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16

เพื่อแก้ปัญหาการอ้างความเป็นเจ้าของสถานที่ ศาลฎีกาจึงได้รับการร้องขอให้รับหน้าที่พิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ที่พึงมี เช่นบันทึกโบราณ อายุ 500 ปี ซึ่งบันทึกโดยจักรพรรดิโมกุล, บันทึกการเดินทางของกลุ่มพ่อค้าในยุคกลาง และการสำรวจในยุคอาณานิคม รวมทั้งบันทึกเกี่ยวกับโบราณคดีด้วย



ประเด็นสำคัญของคดี ศาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า มัสยิด “บาบรี” ของชาวมุสลิม ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นโบสถ์ของพระราม พระเจ้าของชาวฮินดูจริงหรือไม่ ซึ่งมัสยิด “บาบรี” เอง ก็เคยถูกม็อบชาวฮินดูฝ่ายขวา บุกรื้อถอนทำลายในปี 2535

ในคำพิพากษาอย่างเป็นเอกฉันท์ ศาลระบุว่า จากรายงานของการสำรวจด้านโบราณคดีของอินเดีย หรือเอเอสไอ พบหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ซากอาคารที่หลงเหลืออยู่ใต้โครงสร้างของมัสยิดบาบรีที่ถูกรื้อถอนทำลาย ไม่ใช่ของศาสนาอิสลาม ซึ่งจากหลักฐานทั้งหมด จึงพิจารณาให้พื้นที่พิพาทแห่งนี้ เป็นของชาวฮินดูเพื่อให้สร้างโบสถ์พระราม ส่วนชาวมุสลิมจะได้รับการจัดสรรที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่อื่น เพื่อสร้างมัสยิด



แต่ชาวมุสลิมก็บอกว่า พวกเขาทำศาสนกิจในพื้นที่แห่งนี้มานานชั่วลูกชั่วหลานแล้ว

จากนั้นศาลก็สั่งให้รัฐบาลกลางตั้งหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ดูแลเรื่องการก่อสร้างโบสถ์พระราม

แม้ว่าจะมีคำเตือนจากเจ้าหน้าที่แล้วว่า อย่าฉลองคำตัดสินใจดังกล่าว แต่ผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่อยู่ในศาล กล่าวว่า พวกเขาได้ยินเสียงตะโกนสรรเสริญพระรามว่า “ชัยศรีราม” (Jai Shri Ram) อยู่ด้านนอกศาล ขณะมีการประกาศคำตัดสิน สมาชิกพรรคของชาวฮินดูคนหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวทันทีว่า มันเป็นคำตัดสินที่สมดุล และมันเป็นชัยชนะของประชาชนในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของชาวมุสลิมกล่าวว่า พวกเขาไม่พอใจและจะตัดสินใจว่าจะเรียกร้องให้มีการทบทวนคำตัดสินหรือไม่ หลังจากได้อ่านคำตัดสินอย่างละเอียดทั้งหมด



แต่ด้านนอกศาล สถานการณ์ส่วนใหญ่ยังสงบ ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนในเมืองอโยธยาก่อนการอ่านคำตัดสินของศาล ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง ตำรวจหลายพันนายตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยทั่วเมือง ขณะที่ร้านค้าและวิทยาลัยปิดจนถึงวันจันทร์ นอกจากนี้ ทุกแพลตฟอร์มของโซเชียล มีเดีย ถูกตรวจสอบเนื้อหาอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูลและชักจูงก่อความรุนแรง

ส่วนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ก็แสดงปฏิกิริยาต่อคำตัดสินของศาลผ่านทางทวิตเตอร์ และกล่าวว่า มันจะไม่เป็นการถูกมองว่า เป็นชัยชนะ หรือพ่ายแพ้ของใคร

ประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนของที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในเมืองอโยธยา



ในคัมภีร์อโยธยา มหาตมยา กล่าวว่ามีโบสถ์พระรามอยู่ที่รามโกฏ อันเป็นที่ประสูติของพระราม ชาวฮินดูได้อ้างว่ามีการรื้อถอนโบสถ์พระรามมาสร้างมัสยิด “บาบรี” เมื่อ พ.ศ. 2271 ตามคำสั่งของพระเจ้าบาบูร์ หรือบาบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในบริเวณนี้ ในสมัยที่ราชวงศ์โมกุล หรืออังกฤษปกครองอยู่นั้น ปัญหายังไม่บานปลาย มาลุกลามมากขึ้นหลังจากได้รับเอกราชแล้ว โดยในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ชาวฮินดูได้นำเทวรูปของพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดาเข้าไปไว้ในมัสยิด จนมีคำสั่งศาลเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ให้ชาวฮินดูเข้าไปสักการะเทวรูปของพระรามได้

สันนิบาตราษฏริยะ สวยัมเสวกสังฆ์ ซึ่งเป็นสันนิบาตของชาวฮินดูหัวรุนแรง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการสร้างโบสถ์พระราม ณ บริเวณมัสยิดบาบรีตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ทำให้พรรคการเมืองนำมาหาเสียงเพื่อจะได้รับการสนับสนุนจากชาวฮินดู รัฐบาลของวี พี นรสิงห์ ต้องการจะแก้ปัญหานี้อย่างสันติจึงให้ศาลสูงที่ลักเนาตัดสินว่ามัสยิดบาบรีตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นโบสถ์พระรามจริงหรือไม่ ก่อนจะมีการตัดสินชี้ขาดในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2535 สันนิบาตราษฏริยะ สวยัมเสวกสังฆ์และกลุ่มชาวฮินดูหัวรุนแรงอื่น ๆ กลัวว่าคำตัดสินจะกลายเป็นข้อผูกมัด จึงจัดชุมนุมชาวฮินดูที่มัสยิดและเข้าไปทำลายมัสยิดจนพังเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และเกิดเหตุจลาจลขึ้น มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,000 คน รัฐบาลกลางจึงประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งรัฐอุตตรประเทศ และสั่งจับแกนนำที่ก่อให้เกิดการจลาจล

การทำลายมัสยิดนี้มีผลกระทบต่อมุสลิมทั้งโลก มีการประท้วงของชาวมุสลิมจนเกิดการปะทะกับชาวฮินดูในนิวเดลี กัลกัตตา และบอมเบย์ มีการเผาโบสถ์ฮินดูประท้วงในปากีสถาน บังกลาเทศ และลอนดอน