การเมืองมักเป็นเช่นนี้ บางครั้งเรื่องที่คิดว่าง่าย ไม่มีอะไร แต่ถึงเวลาจริง กลายเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา
อย่างเรื่องตั้งกรรมาธิการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ก็เช่นกัน
เดิมทีจองคิวแรก หลังเปิดประชุมสภาฯปี 62 ครั้งที่ 2 ต้องญัตตินี้ แต่พอใกล้ถึงเวลาจริง ต้องขยับไปเป็นลำดับ 2 หลังญัตติเรื่องคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะมาตรา 44
ระหว่างรอคิวสัปดาห์ใหม่ มีเปิดเกมรุกจากพรรคประชาปัตย์ จ่อขอจองเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ โดยอ้างเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน หนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ไปนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
ท่ามกลางเสียงเชียร์ของฝ่ายค้านบางส่วนที่ตระหนักดีว่า ถ้าจะมัวแต่หนุนคนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านไปแข่งด้วย ก็ไม่มีวันจะได้นั่งเก้าประธาน
สู้ไปหนุน นายอภิสิทธิ์ ที่ชื่อชั้นการเมืองไม่ธรรมดา เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว และเคยประกาศจะเดินหน้าแก้ รธน.ปี 60 ในช่วงหาเสียงมาด้วยกันจะดีกว่า ด้านหนึ่งเป็นการตัดเสียงฝ่ายรัฐบาลไปในตัว
แนวทางนี้ ฝ่ายค้านยังเคยพยายามใช้หนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่เล่นด้วย
ต่างจากครั้งนี้ที่ นายอภิสิทธิ์แสดงท่าทีตอบรับว่าสนใจ แต่ไปติดที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเป็นแกนนำรัฐบาล และคงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้นายอภิสิทธิ์ และ ปชป.เอาความสำเร็จนี้ไปใช้หาเสียงทางการเมือง
เมื่อมีเสียงต่อต้านเล็ดลอดออกมาจากวงในพรรคพลังประชารัฐ ทางออกที่เป็นการประสานที่ดีที่สุด คือการเจรจาตกลงกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ใช่ปล่อยยืดเยื้อไปรอโหวตกันเองในกรรมาธิการ ซึ่งในทางการเมืองจะไม่ใช้วิธีนี้ ยกเว้นไม่มีทางออกจริงๆ เนื่องจากหากปล่อยให้มีการโหวตเสียงเมื่อไหร่ จะเป็นการเริ่มต้นของ 2 ฝัก 2 ฝ่ายเมื่อนั้น โดยเฉพาะในซีกรัฐบาลด้วยกัน จะขาดเอกภาพทันควัน
จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะมีข่าวแว่วๆ ออกมาว่า อาจจะเลื่อนพิจารณาญัตตินี้ออกไปก่อน เป็นปลายเดือนหรือต้นเดือนหน้า เพื่อให้ระดับแกนนำในพรรคตกลงกันให้ได้ก่อน
เช่นเดียวกับกระแสข่าว วิปจากพรรคประชาธิปัตย์ พยายามล็อบบี้คนในพรรคพลังประชารัฐ ให้มาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ แทนที่จะเตะสะกัด หรือส่งคนไปแข่ง
สอดรับกับกระแสข่าว ข้อเสนอให้มี สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เข้าไปร่วมอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ทั้งหมด หรือประมาณ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3
เท่ากับสะท้อนว่า ยังมีประเด็นที่ต้องเจรจาหาข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกันก่อน ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพราะหากไม่รอบคอบ อาจจะจุดประเด็นความขัดแย้ง และเข้าทางกลุ่มที่ตั้งป้อมคัดค้านและต่อต้านรัฐธรรมนูญอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ต้องไม่ลืมว่า ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในสามเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นหนึ่งในนโยบาย 12 ข้อเร่งด่วนของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว
เท่ากับเป็นไฟท์บังคับ ที่รัฐบาลจะต้องทำ หรือแสดงออกให้เห็นถึงความพยายามในเรื่องนี้
ว่ากันว่าในขั้นแรก แก้เงื่อนไขตามมาตรา 256 โดยไม่แตะมาตราอื่นเลย ท้ายที่สุดจะได้เห็นไฟเขียวจากผู้ที่สูงกว่า ส.ว. เพราะเป็นคนลงนามแต่งตั้ง เมื่อถึงเวลาอันสมควร
แล้วค่อยไปลุ้นการคัดค้านต่อต้าน "ของจริง" ในขั้นถัดไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจของฝ่ายที่ได้ประโยชน์จาก รธน. 60 และการลิดรอนบทบาท ส.ว.เรื่องร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ตรงนั้นแหละจะ "สุดหิน" ที่สุด ของจริง!