“กล้วย” มีประโยชน์สารพัด

2019-11-08 11:00:17

“กล้วย” มีประโยชน์สารพัด

Advertisement

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเผย “กล้วย” มีสารอาหารเกือบทุกชนิด “กล้วยดิบ-กล้วยห่าม” แก้ท้องเสีย ส่วน “กล้วยสุก” บำรุงร่างกาย แก้ท้องผูก ช่วยให้การขับถ่ายดีป้องกันริดสีดวงทวาร ต้านมะเร็ง บำรุงผิวพรรณ ลดริ้วรอย ลำต้น ใบ ใช้ประโยชน์สารพัด

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนร่วมสืบสานประเพณีที่ดีงามของไทย สำหรับเทศกาล ลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พ.ย.2562  ซึ่งเทศกาลดังกล่าว กล้วยก็มีส่วนสำคัญและผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วย นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ในงานประเพณีต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นวัสดุ จากธรรมชาติช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า กล้วยมีสารอาหารเกือบทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ ในกล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก (40 กรัม) มีพลังงาน 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี


กล้วยดิบ มีรสฝาด แก้ท้องเสียเนื่องจากมีสารแทนนิน รวมถึงช่วยสมานแผลในกระเพาะและลำไส้

กล้วยห่าม รสฝาดออกหวาน แก้ท้องเสีย ชดเชยโพแทสเซียมที่เสียไป

กล้วยสุก รสหวาน บำรุงร่างกาย แก้ท้องผูก ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นและป้องกันโรคริดสีดวงทวาร กล้วยสุกงอม มีรสหวานจัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังงาน เป็นกากใยช่วยในการขับถ่าย และมีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็ง

ลำต้นหรือหยวกกล้วย นิยมนำมาทำฐานกระทง

ใบตองสด นำมาใช้ในการทำอาหาร ห่อกับข้าว หรืองานศิลปหัตถกรรม เช่น กลีบกระทง บายศรี 

นอกจากนี้กล้วยยังช่วยบำรุงผิวพรรณทำให้ผิวเนียนนุ่ม ลดริ้วรอย โดยนำกล้วยน้ำว้า 1-2 ผล น้ำผึ้งและนม ผสมเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าให้เนื้อเหลวจนเกินไป ทาให้ทั่วใบหน้าและลำคอ ประมาณ 15-20 นาที สามารถนวดเบา ๆ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพียงแค่นี้ผิวหน้าจะเนียนนุ่ม

นอกจากสรรพคุณที่กล่าวแล้ว กล้วยยังเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้รักษาแผล ในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย วิธีใช้ให้รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงด้วยน้ำร้อนปริมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการท้องผูก และการรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ท้องอืดได้