คืนบาปที่ "ลำพะยา" ยุทธการถล่ม "จุดด้อย" ใน "จุดเด่น"

2019-11-07 20:00:58

คืนบาปที่ "ลำพะยา" ยุทธการถล่ม "จุดด้อย" ใน "จุดเด่น"

Advertisement

ลำพะยา เป็นเพียงตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประเทศไทย ระบุว่า ประกอบขึ้นด้วย 7 หมู่บ้าน มีรวมประมาณ 1,600 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 4,800 คนเท่านั้น


สภาพทั่วไป มีทั้งพื้นที่ราบ ป่าไม้ และภูเขา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคการเกษตร อาทิ สวนยางพารา นาข้าว และสวนผลไม้ ทั้งมังคุด เงาะ และทุเรียน ที่ได้รับยอมรับเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป ทั้งทุเรียนกวน ทุเรียนกรอบ ส้มแขกกวน เป็นโอท็อประดับ 5 ดาว

ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ชาวไทยพุทธกับไทยมุสลิมอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ไม่มีปัญหาชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา มีทั้งวัดและมัสยิด เด็กต่างศาสนิกเป็นเพื่อนกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ไม่เคยมีปรากฎเหตุการณ์ตวามรุนแรง จน พล.ท.พรศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 ยกให้เป็นพื้นที่สีขาว

แต่เพราะเป็นพื้นที่ปลอดความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการต่างๆ มาตลอด ในทางกลับกัน จึงเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามล็อคเป้า เนื่องจากเห็นเป็นจุดอ่อนที่อาจหละหลวมหรือชะล่าใจ


ป้อม ชรบ.ลำพะยา ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น ในช่วง 5 ทุ่มวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นตำรวจและ ชรบ. ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม รวมถึง 15 ศพ และบาดเจ็บอีก 5 คน นอกจากนี้ยังปล้นปืน และโรย "เรือใบ" สะกัดเส้นทางติดตามของเจ้าหน้าที่ ท่ามกลางเสียงสาปแช่งของผู้คนทั้งในพื้นที่ที่ทราบข่าวคราว

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตุ เชื่อมโยงไปถึงเรื่องเจรจาสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย ซึ่งว่างเว้นไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะนับตั้งแต่หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย สมัยรัฐบาล คสช. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาค 4 ปฏิเสธที่จะร่วมโต๊ะเจรจากับตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี แต่กลับต้องการเจรจาโดยตรงกับอุสตาซสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาของมาราปาตานี เมื่อต้นปี 2562 จนมาราปาตานีออกแถลงการณ์ขอพักการเจรจาไว้ก่อน

ก่อนที่ในเวลาต่อมา มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะเจรจา ทั้งจากฝ่ายไทย ที่เปลี่ยนจาก พล.อ.อุดมชัย ไปเป็น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. ขณะที่ฝ่ายมาราปาตานี อุสตาซสุกรีก็ประกาศถอนตัว และมีเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเจรจาคนใหม่เช่นกัน

ขณะที่ความเห็นต่าง เรื่องฝ่ายยุทธการที่คุมกองกำลังบีอาร์เอ็นควรต้องอยู่ในโต๊ะเจรจาด้วยหรือไม่ เนื่องจากตัวแทนเจรจาจากบีอาร์เอ็นในกลุ่มมาราปาตานี เป็นเพียงฝ่ายการเมือง ไม่ได้คุมกองกำลัง ซึ่งจะมีผลต่อภาคปฏิบัติที่ต้องการลดความรุนแรงในพื้นที่

ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ฝ่ายยุทธการของบีอาร์เอ็นเอง ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับเรื่องการเจรจาสันติสุขที่มีความพยายามทำกันมาหลายรัฐบาล


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี นักวิชาการจากสถาบันความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี ซึ่งวิจัยศึกษาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มานาน ยืนยันสนับสนุนให้การเจรจาสันติสุขเดินหน้าต่อไป หาไม่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราจะไม่รู้เลยว่าเป็นฝีมือใคร จะทำได้แค่คาดเดา และนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดต่อไป

แนวทางนี้ ดูจะเป็นประเด็นที่เห็นสอดคล้องกัน ทั้งในกลุ่มนักวิชาการในพื้นที่ คนในภาคประชาสังคม และผู้นำทางศาสนา ในจำนวนนี้รวมทั้ง วาดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ซึ่งเรียกร้องให้ระมัดระวังเรื่องการขยายผลด้านข้อมูลข่าวสาร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเรียกร้องทุกฝ่ายใช้ความอดทนและให้เวลากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานและตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านก่อน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอให้การเจรจาสันติสุขได้เดินหน้าไปต่อ แต่ยังไม่อาจคาดหมายได้ว่าเมื่อไหร่จะได้บทสรุปที่ชัดเจน ระหว่างนี้ สิ่งที่พึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือเหตุการณ์ในพื้นที่จะเดินหน้าไปอย่างไร จะสงบรอเวลา หรือเดินหน้าสู่โหมดความรุนแรงหลังมีสัญญาณเตือนกรณี 15 ศพ

บางที ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบในพื้นที่ อาจเดินหน้าใช้ยุทธการโจมตี "จุดด้อย" ใน "จุดเด่น" เหมือนป้อมชรบ.ลำพะยาก็เป็นได้