ตบทรัพย์ นร.ทำกระทงขนมปัง ภัยสังคมที่ต้องปราบให้เหี้ยน

2019-11-06 20:00:32

ตบทรัพย์ นร.ทำกระทงขนมปัง ภัยสังคมที่ต้องปราบให้เหี้ยน

Advertisement

คิดได้ไง? สั่งทำกระทงขนมปังลายการ์ตูนมีลิขสิทธิ์ แล้วนัดหมายส่งของ ก่อนจับตัวข่มขู่เรียกเอาเงิน


คำตอบ คือเรื่องมิจฉาชีพที่อาศัยหากินขู่กรรโชกตบทรัพย์กับคนหาเช้ากินค่ำ ไม่รู้กฎหมาย อ้างค่าละเมิดลิขสิทธิ์

คนทั่วไปเจอแบบนี้เข้า มีตำรวจไปร่วมจับ นำตัวไปพูดข่มขู่ที่โรงพัก อ้างต้องติดคุกหากไม่ยอมจ่าย ร้อยทั้งร้อยต้องยอมจำนน วิ่งหาเงินให้ ยิ่งในกรณีของน้องวัย 15 ปีที่ โคราช-นครราชสีมา โดนข่มขู่จะหมดโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ ยิ่งทำให้สั่นกลัวกันทั้งครอบครัว

ฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของน้องนักเรียนคนนี้ ทำให้รู้ว่า มีคนอื่นๆ ตกเป็นเหยื่ออีกหลายราย วิธีการที่ใช้ก็แบบเดียวกัน ใช้วิธีล่อซื้อ

ที่น่าสนใจ คือพฤติการณ์นัดรับสินค้าแล้วพาพรรคพวกไปล้อมจับ ซึ่งไม่ถูกต้อง แม้จะพยายามนำตำรวจไปด้วย 1 คน การเจรจาข่มขู่แกมบังคับให้เซ็นรับสารภาพ ก็ใช้สถานีตำรวจเป็นเกราะกำบัง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ไม้กันหมา" ที่สำคัญ การรุมสอบปากคำเด็กวัยเพียง 15 ปี โดยไม่มีสหวิชาชีพเข้าร่วม เป็นการกระทำที่น่าละอาย ท้าทายกฎหมายและความถูกต้องอย่างถึงที่สุด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีคำถามถึงเจ้าของสถานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร


ดังความเห็นของทนายความชื่อดัง นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ที่พูดเจนว่า เป็นการกระที่ไม่ชอบตั้งแต่ต้น เหมือนการหลอกเด็ก ไปล่อซื้อให้เขาทำ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นผู้เสียหาย ศาลฎีกาเคยมีคำตัดสินไว้แล้ว

"การไปจับตัวเป็นหน้าที่ของตำรวจ คนธรรมดาจับกันเองไม่ได้ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่มีอำนาจจับ ไปถึงโรงพักแล้วต้องเป็นเรื่องตำรวจ กรณีเป็นเด็กหรือเยาวชน การสอบสวนต้องมีสหวิชาชีพร่วมด้วย ตำรวจต้องเป็นผู้สอบสวน ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ มันทำไม่ได้เลย ผิดกฎหมายทุกขั้นตอน" ทนายเดชา ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านรายการทีวีรายการหนึ่ง

ทั้งย้ำว่า สามารถฟ้องร้องกลับได้ หากเป็นลักษณะใช้ให้เด็กทำผิด แล้วมาล่อจับ บีบบังคับเอาเงิน เข้าข่ายกรรโชก มีความผิด โทษจำคุก 5 ปี

เรื่องกลเล่ห์เพทุบายกรณีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งคดีที่ถูกขยายเผยแพร่ไปถึงผู้คนในสังคมผ่านสื่อโซเชียล และกลายเป็นประเด็นร้อนชั่วข้ามคืน ส่งผลให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการล่อซื้อ ถึงขั้นรีบยื่นข้อเสนอพร้อมจ่ายเงิน 5,000 บาทคืนให้หวังยุติเรื่อง แต่ถูกปฏิเสธจากครอบครัวของน้องวัย 15 ปีแล้ว

ทั้งยังจะมีการขยายผลเอาผิดกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะทำเป็นขบวนการ และอาจมีคนในเครื่องแบบเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย หลังจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนระบุว่า ไม่ได้มอบหมายให้ใครเป็นตัวแทน สำหรับดำเนินการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุไปถึงบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะแทนที่จะมีความเคลื่อนไหว ขยับเขยื้อนหรือแนวทางปรับปรุงกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่สำหรับ "คนหัวหมอ" บางกลุ่ม นำไปใช้เป็นเครื่องมือหากินกับคนที่อ่อนดัอยกว่า กลับทำได้แค่ออกมาร้องเตือนผู้คนอย่าไปผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านระดับรองอธิบดีคนหนึ่งเท่านั้น

ทั้งที่เคยมีกรณีตัวอย่าง พนักงานเก็บขยะของ กทม. ถูกจับหลังนำขายซีดีเก่าไปวางขายแผ่นละ 20 บาท เหตุเกิดปี 2551 โดนปรับ 2 แสนบาท ล่าสุด กรณีแม่ค้าขายวุ้นออนไลน์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถูกล่อซื้อหลังสั่งทำวุ้นรูปโดเรม่อน 2 ชิ้น รา 600 กว่าบาท นัดหมายส่งของที่หน้า สภ.ภูพิงค์ ก่อนถูกจับตั้งข้อหาละเมิดลิขสิทธ์ ต้องเสียเงินเป็นหลักหมื่นบาท เหตุเกิดเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมานี้เอง

ไม่มีใครปฏิเสธว่า เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ควรต้องมีคุณธรรมและสามัญสำนึกที่ดี แต่สำหรับกลุ่มคนที่อาศัยช่องโหว่นี้ไปเรียกตบทรัพย์ กรรโชกเอาเงินของผู้อื่นด้วยวิธีล่อซื้อหรือผิดกฎหมาย ก็ต้องจัดการอย่างจริงจังให้เข็ดหลาบเช่นเดียวกัน

อย่าปล่อยให้เหลือเชื้อชั่วไว้ทำพันธุ์เลยนะครับ