พบผู้ป่วยซึมเศร้า! เพิ่มมากขึ้นที่เกาะสมุย

2019-11-04 14:20:18

พบผู้ป่วยซึมเศร้า! เพิ่มมากขึ้นที่เกาะสมุย

Advertisement

เศรษฐกิจของประเทศพ่นพิษพบผู้ป่วยจากการเป็นโรคซึมเศร้าในพื้นที่เกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น จากสถิติพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 พบผู้ป่วยจากโรคซึมเศร้าถึงกว่า 5,000คน รพ.เกาะสมุยจึงจัดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิต ภายใต้ชื่อ สุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หวังลดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในพื้นที่

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดย นพ.ทรงยศ ชญานินปรเมศร์ รอง ผอ.รพ.เกาะสมุย ได้เปิดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิต ภายใต้ชื่อกิจกรรม “สุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ด้วยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. ของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2532 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้กิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 -8 พ.ย. 2562 ที่ รพ.เกาะสมุย

เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ชาวเกาะสมุยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น จากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาวะว่างงาน ปัญหาการเมือง ปัญหาอาชญากรรม และสารเสพติด โดยพบว่า ผู้ป่วยด้านจิตเวชโรคซึมเศร้านับจากต้นปี 2562 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และขอคำปรึกษาจำนวนมากถึง 5,452 ราย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในปี 2561 มีจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาจากอาการโรคซึมเศร้าถึง 4,713 คน พบว่า สถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยทางจิตเวชในปี 2562 มีปริมาณผู้ป่วยที่มากกว่า สาเหตุหนึ่งเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ รพ.เกาะสมุยวิตกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้จัดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตขึ้น




ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจภาวะสุขภาพจิตของตนเอง รู้จักหลากหลายวิธีผ่อนคลายความเครียด และสามารถนำไปใช้กับตนเองและคนใกล้ชิดได้ เนื่องจากบุคคลที่มีภาวะเครียด ถ้าได้ระบายความรู้สึก กับผู้ที่รับฟังอย่างใส่ใจจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติทางจิตใจที่เกิดจากโรคซึมเศร้าไปได้

โดยกิจกรรมมีการจัดนิทรรศการความรู้ “ สุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ” การฉายวิดีทัศน์ เรื่องสุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บริการตรวจวัดภาวะสุขภาพจิต บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเบื้องตันทุกวัย การนวดฝาเท้าคลายเครียด การตรวจโรคด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย ตรวจหากรุ๊ปเลือด การเสี่ยงเซียมซีความสุข ดื่มน้ำสมุนไพร รวมทั้งสามารถรับสื่อความรู้สุขภาพจิตฟรีในงานตลอดทั้งสัปดาห์



ส่วนอาการของผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ เช่น เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง รู้สึกตนเองไร้ค่า รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม

การรักษาโรคซึมเศร้า การรักษาหลักของโรคซึมเศร้าคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดและการใช้ยากลุ่มต้านเศร้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในรพ. ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้จนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม