"แชร์แม่มณี" ลวงต้มคนเปื่อย ความโลภยังหากินได้ไม่จบ

2019-10-29 15:10:43

"แชร์แม่มณี" ลวงต้มคนเปื่อย ความโลภยังหากินได้ไม่จบ

Advertisement

ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่มีอะไรซับซ้อนกว่าเดิม สำหรับแชร์ "แม่มณี" วันทนีย์ ทิพย์ประเวช เน็ตไอดอลแห่งจังหวัดอุดรธานี


ลูกแชร์หวังรวยรัด โดนหลอกให้ลงทุนนับร้อยราย สูญเสียเงินลงทุนราวๆ 100 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะรูปแบบและวิธีหาเงินแบบนี้ มีเกิดขึ้นให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีหนึ่งๆ หลายกรณี แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อก็ยังไม่สรุปเป็นบทเรียน ซึ่งสาเหตุหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ คือความโลภ หวังจะมีกำไรจากรายได้แบบ "ก้าวกระโดด" จู่ๆ มีเงินเพิ่มพูลเข้ามาแบบรับเละ


วิธีการที่ใช้ คือ

1. เสนอผลประโยชน์จากการลงทุนแบบ "เวอร์วัง" ตั้งแต่ 10-20% ไปถึงเท่าตัว และอาจกระโดดไปถึง 2-3เท่าตัว กรณีแชร์แม่มณี โปรโมทให้มากถึง 93%

2. การสร้างโปร์ไฟล์ให้ดูดีเลิศหรูไฮโซ แต่งตัวเนี๊ยบโชว์แบรนด์เนม ถ่ายรูปคู่กับทรัพย์สินที่ใครๆ ก็อยากได้ บ้านหรือออฟฟิศที่โอ่อ่า รถยนต์ราคาแพง กองเงินหรือบัญชีธนาคารที่ใครก็ทำปลอมขึ้นได้ ไปกระทั่งไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยวชื่อก้องในต่างประเทศ

3. เพื่อให้เหยื่อตายใจ จะกุลีกุจอจ่ายเงินผลกำไรให้ตรงตามจำนวนและเวลาที่เอ่ยอ้างไว้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก หรือ 3-4 งวดแรก ซึ่งจะส่งผลให้เหยื่อเชื่อใจมากขึ้น นำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็จะชักชวนญาติพี่น้องและคนรู้จักอื่นๆ ให้ไปร่วมลงทุนด้วย เป็นการหาเหยื่อให้เพิ่มโดยไม่รู้ตัว

4. การสร้างเครือข่าย โดยจัดตั้งหรือหาตัวแทนหรืออาจจะเรียกแม่ข่าย สำหรับการระดมเงินลงทุน และอาจสร้างสตอรี่เส้นทางร่ำรวยเติบโตให้กับแม่ข่ายเหล่านี้ ขณะเดียวก็เพื่อหวังให้เหยื่อคิดมโนไปถึงช่องทางเติบโตก้าวหน้าด้วย

5. เพื่อให้เป็นที่เชื่อใจและน่าเกรงขามมากขึ้น อาจมีบางส่วนดอดไปแอบถ่ายภาพหรือเซลฟี่ร่วมกับคนดัง หรือคนใหญ่คนโตในแวดวงการเมือง หรือนายทหาร นายตำรวจใหญ่ จากนั้นนำไปโพสต์บนโลกออนไลน์ หรือแชร์ตามสื่อโซเชียล

6. เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสนิทใจ หอบเงินมาให้และช่วยหาคนร่วมลงทุนเพิ่ม การจ่ายเงินที่อ้างว่าเป็นกำไรตอบแทนก็จะเริ่มไม่ตรงเวลา มีข้ออ้างมากมาย แต่ขณะเดียวกัน ก็จะไปให้น้ำหนักกับการหาแม่ข่ายใหม่

7. หากเหยื่อเริ่มเอะใจสงสัย และพยายามติดต่อทวงถาม แรกๆจะใช้วิธีกล่อมให้ตายใจ ยืนยันได้คืนแน่ๆ แต่หากไม่ได้ผล หรือเหยื่อเริ่มแสดงอาการไม่พอใจ อาจจะใช้วิธีข่มขู่ หรือเน้นย้ำความสูญเสียที่จะเกิดตามมา หากแจ้งความตำรวจ โดยระบุเมื่อเป็นคดีความแล้ว จะทำให้เรื่องยืดเยื้อ และอาจไม่ได้เงินลงทุนคืน แต่หากเงียบไว้ จะมีโอกาสได้เงินคืนมากกว่า

เจอคำขู่นี้เข้าไป หลายคนก็หวั่นเกรงเงินลงทุนจะสูญหายไม่ได้คืน จึงทำให้เหยื่อบางส่วนพะว้าพะวง ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดี

เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กิจการประเภท "ลวงคนอื่นมาลงทุน" ยังสามารถดำรงอยู่ได้ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจช่วงที่ฝืดเคือง ไม่ว่าจะในอดีต หรือในปัจจุบัน ซึ่งคนจนระดับรากหญ้าไม่มีเงินใช้จ่าย ส่วนคนที่มีเงินเก็บอยู่บ้าง ก็อยากจะหาช่องทางลงทุนที่ได้กำไรแน่ๆ ไม่มีเจ๊ง

สุดท้ายจึงไปหลงเชื่อการระดมเงินลงทุนนอกระบบเหล่านี้เข้าอย่างจัง รวมทั้งในกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อแชร์แม่มณี ซึ่งมีนักศึกษานับสิบๆ คน รวมอยู่ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน อาชีพอะไร แต่คำสารภาพที่ตรงกันทุกคน คือความโลภ และเชื่อว่าคำเชิญชวนโอ้อวดจะเป็นเรื่องจริง

ทั้งๆ ที่เหยื่อเหล่านี้ ไม่ใช่คนไม่มีเงิน ส่วนใหญ่ล้วนมีเงินสำหรับลงทุนทั้งสิ้น ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทุกคนมีสมาร์ทโฟน มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี่การสื่อสาร อย่างน้อยก็เบื้องต้นจากการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่กลับไม่ได้ใส่ใจกับการใช้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่ลึกไปกว่าโปรไฟล์ "แม่มณี" ที่เจ้าตัวจงใจให้มีปรากฎไว้

ถือเป็นความเลินเล่อ ชะล่าใจอย่างเด่นชัด และสุดท้ายนำไปสู่กับดักและตกเป็น "เหยื่อ" อันโอชะแบบหมูวิ่งชนปังตอเอง

ฉะนั้น ให้พึงตระหนักในกฎกติกาที่ควรต้องเป็นหรือต้องทำเหล่านี้ให้ดีครับ ถือเป็น "ยันต์กันโง่" ที่ดีที่สุดครับ