เสพข่าว "ตี๋แว่นหัวร้อน" หมอแนะมีสติ-ไม่ใช้อารมณ์

2019-10-25 20:00:42

เสพข่าว "ตี๋แว่นหัวร้อน" หมอแนะมีสติ-ไม่ใช้อารมณ์

Advertisement

เป็นปรากฎการณ์ใหม่ คลิปหนุ่มตี๋แว่นนักเรียนนอก ประเทศฝรั่งเศส อารมณ์ปะทุ โวยวายใส่หนุ่มคู่กรณี และยังด่ากราดถึงคนไทยคนอื่นๆ ร้อนไปทั่วโลกโซเชียล


และที่ร้อนไม่แพ้กัน คือความเห็น เสียงวิจารณ์ และปฏิกริยาจากผู้คนที่ได้เห็นคลิปภาพ ในหลากหลายมุมมอง แต่ส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นอารม์ร่วมความโกรธเคือง ที่โดนหนุ่มคนนี้ฟาดฟาดงา กล่าวหาคนไทยแบบเหมารวมว่าเป็นคนชั้นต่ำ ตนจึงไม่จำเป็นต้องแคร์ อวดร่ำอวดรวยมีเงินเป็นล้าน มีบ้านมีรถยนต์ป้ายแดง ชนิด.. "คนอื่นไม่มี"

(ภาพจาก เดลินิวส์)

นำไปสู่เหตุการณ์ สามัคคีชุมนุม รุมถล่มแบบ "จัดหนัก" แถมขุดคุ้ยเรื่องราวเพิ่มเติมหวังให้เจ็บแสบและขายหน้า รุกไล่ถึงขั้นให้ออกจากประเทศไปก็มี นอกเหนือจากพร้อมอกพร้อมใจกันไปตะโกนโห่ฮาและไลฟ์สด ในวันที่ไปแสดงตัวรับทราบข้อกล่าวหาที่โรงพักพุทธมณฑล

และยังเลยเถิดไปถึงพ่อแม่บุพการี กล่าวหาไม่อบรมบ่มนิสัยและตามใจลูกจนเหลิง กู่ไม่กลับ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก และอาจเป็นเรื่องความจริงเต็มร้อยหรือใกล้เคียง ด้วยความรู้สึกเจ็บแค้นไม่พอใจที่เป็นลูกหลานคนไทยแท้ๆ แต่กลับด่าและดูแคลนคนไทยด้วยกัน ส่วนพ่อแม่ถูกวิพากษ์เป็นประเภท "เลี้ยงลูกแบบเทวดา" ตามใจและทุ่มเทให้ทุกอย่าง กระทั่งสุดท้าย กลายเป็นเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน"

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม องค์การมหาชน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันคนอารมณ์ร้อนกันมากขึ้น สังคมมักฟิวส์ขาดน็อตหลุดกันง่าย จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข คือหาทางระงับอารมณ์ของตนเองให้สงบมากขึ้น การเสพสื่อมากเกินไป และอินกับเนื้อหาข่าวอย่างเต็มที่ แล้วระบายทันทีผ่านสื่อโซเชี่ยล จะก่อให้เกิดความเร่าร้อน ไม่ดีต่อทั้งตัวเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

กระบวนการเฝ้าระวังผ่านสื่อเป็นสิ่งที่ถูกตัองและดีงาม เท่ากับระแวดระวังคอยตรวจสอบสิ่งไม่ดี แต่การเฝ้าระวังนั้นต้องทำอย่างมีสติ ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสิน

ศูนย์คุณธรรมพยายามรณรงค์เรื่อง "พักก่อนโพสต์" คือหลังเสพข่าวแล้ว หากเกิดอาการ "ช็อคกับข่าว" มีอารมณ์ "อิน" กับเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องการจะระบายอะไรออกไป ให้เขียนข้อความไว้ก่อน อย่าเพิ่งโพสต์ทันที แล้วให้ไปนั่งพัก เรียกสติให้กลับคืนมาก่อน จากนั้น ค่อยกลับไปอ่านทบทวนข้อความที่เขียนเอาไว้ เชื่อไหมว่าบางคนเมื่ออารมณ์เย็นลง จะตัดทอนข้อความที่รุนแรงออกครึ่งหนึ่ง บางคนจะตัดออกทั้งหมด ช่วยหลีกเลี่ยงการซ้ำเติม หรือป้องกันไม่ให้ไปสร้างบาดแผลใจเพิ่มความร้อนให้กับสังคม รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

การฝึกฝนเพื่อเอาชนะอารมณ์ดังกล่าว ครั้งแรกๆ อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจะขัดใจความต้องการของตัวเอง แต่หากปฏิบัติบ่อยๆ จะสามารถอดทนอดกลั้นได้ และจะกลายเป็นนิสัยในที่สุด นอกจากนี้ ยังจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกหลานถือปฏิบัติ

กรณีเรื่องหนุ่มตี๋แว่นหัวร้อน ผอ.ศูนย์คุณธรรมเห็นว่า เรื่องคดีความ และการก้าวล่วงก็ควรให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่จะดำเนินการ แต่การวิพากษ์แสดงความเห็นของคนที่ไม่ส่วนเกี่ยวข้องเลยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นอารมณ์ร่วมของผู้คนที่อาจทำให้หงุดหงิด รู้สึกไม่พอใจกับคำพูดตามคลิป แต่หากไม่ใช้สติ ใช้แค่อารมณ์ ก็อาจไม่มีเพียงแค่กรณีนี้ จะลุกลามไปถึงกรณีอื่นๆ ไม่จบสิ้น

รศ.นพ.สุริยเดว แนะนำด้วยว่า กรณีรู้ตัวเองดีว่าเป็นคนอารมณ์ระเบิดได้ง่าย หรือมีความสงสัยเรื่องควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ควรจะไปพบแพทย์ หรือจิตแพทย์ เพื่อหาทางบำบัดรักษา

กรณีไม่รู้ตัวเอง บุคคลรอบข้างที่ใกล้ชิด พรรคพวก หรือญาติพี่น้อง สังเกตุพบความผิดปกติ หากยังพูดคุยกันได้ ควรแนะนำหรือพาตัวไปรักษาอาการ แต่หากกรณีเห็นชัดเจนว่าเป็นคนมีปัญหา อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น แต่เจ้าตัวไม่รู้หรือปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษา กรณีนี้สามารถร้องขอความช่วยเหลือ หรือร้องขอบังคับบำบัดจากหน้าที่ของรัฐได้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ พม. สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ

คำชี้แนะเพื่อแก้ไขเหล่านี้ อาจเป็นเรื่องยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและองค์ประกอบอื่นๆ แต่ถ้าไม่ลองทดสอบดู ก็จะไม่มีวันรู้ ใช่ไหม?

ในวันที่คนเสพสื่ออย่างขาดสติ ไม่ลืมหูลืมตา และชอบดุด่าคนอื่น แต่ไม่เคยมองหรือสำรวจตัวเองเลย