แบน 3 สารพิษ ระวัง "โคน-ม้า" แลก "ขุน"

2019-10-24 14:45:17

แบน 3 สารพิษ ระวัง "โคน-ม้า" แลก "ขุน"

Advertisement

ในที่สุด กรรมการวัตถุอันตราย 26 คน ก็มีมติ "แบน 3 สารพิษ" พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซท หลังจากความพยายามเรื่องนี้ของกลุ่มเกษตร นักวิชาการ คนในวงการสาธารณสุข และเอ็นจีโอเพียรสู้มานานนับสิบๆ ปี


ถึงขั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ชูธงต้าน 3 สารพิษมาตั้งแต่ต้น เรียกว่าเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ และเชิดชูคน "แบน" เป็นวีรบุรุษทำเพื่อแผ่นดิน

เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรและเครือข่าย 686 องค์กร ที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว และมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้าจนกลายเป็นพลังมหาศาล กระทั่งกรรมการวัตถุอันตรายไม่อาจโหวตเป็นอย่างอื่น

แต่..ก็ยังมีเรื่องที่ต้องจับตา และคำถามที่รอความชัดเจนรออยู่เบื้องหน้า เสมือนสัญญาณเตือนอย่าได้ชะล่าใจ

1. กำหนดวัน "แบน" จะมีผลเมื่อถึง 1 ธันวาคม 2562 เท่ากับช่วงเวลา 1 เดือนกว่าๆ ที่เหลืออยู่ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้า ตัวแทนจำหน่าย ตลอดจนฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังสามารถเร่งระบาย ออกแคมเปญลดแลกแจกแถมได้ ใช่หรือไม่

ถ้อยแถลงมติของกรรมการชุดดังกล่าว ที่ให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณากรอบเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ หมายถึงอะไร ต้องกำจัดทำลายสถานเดียวใช่หรือไม่ และทำลายอย่างไร ไม่ให้มีผลกระทบตามมา หรือให้เจ้าของนำไปใช้ต่อยอดหาเงินสร้างรายรับต่อไปได้

2. สารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทนสารพิษทั้ง 3 ชนิด คือสารตัวใด มีคุณสมบัติ และออกฤทธิ์อย่างไร ต่อเกษตรกรผู้ใช้ ผู้ปลูก ตลอดจนผู้บริโภค

เนื่องจากคำพูดและคำให้สัมภาษณ์ของระดับผู้บริหารกระทรวง มักพูดถึงชีวภัณฑ์ สำหรับทดแทนสารตัวเดิม โดยอ้างความจำเป็นที่เกษตรกรยังต้องใช้ แต่ไม่ได้พูดถึงหรือให้ความสำคัญกับสารอินทรีย์ หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ได้ใช้ในการรับมือศัตรูพืชในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนไม่น้อยที่ได้ผล ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง ทั้งในกลุ่มผู้ปลูกและผู้บริโภค

3.กลุ่มที่อ้างเป็นตัวแทนเกษตรกร ภายใต้ชื่อต่างๆ รวมทั้งกลุ่มสมาพันธ์ที่ถูกมูลนิธีชีววิถีหรือไบโอไทย ระบุชัดเจนว่า เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่จัดตั้งและใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ค้าผู้สารพิษที่ถูก "แบน" จะยังมีความชอบธรรมสำหรับการเคลื่อนไหวสวนทางกับสภาเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมานาน และได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มตัวแทนเกษตรกรไทยจริงๆ ต่อไปหรือไม่

การรวมตัวและอ้างถึงเครือข่ายพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เพิ่ออ้างตัวเลขมูลค่าความเสียหายกว่า 7 แสนล้านบาทในระบบภาคการเกษตรจากการ "แบน" สารพิษ 3 ชนิด และเตรียมไปยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง 28 ตุลาคมนี้ จะได้รับผลพวงหรือบทลงโทษหรือไม่ และอย่างไร หากไม่สามารถหาที่มาที่ไปของตัวเลขความเสียหายหลายอย่าง ซึ่งถูกทางไบโอไทยและเครือข่ายตอบโต้กลับว่า เป็นการยกตัวเลขที่เลื่อยลอย ไม่มีในรายงานหรือการวิจัยที่สามารถนำไปอ้างอิงได้

จุดมุ่งหมาย รวมถึงเรื่องตื้นลึกหนาบางของกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนต้องการจะได้รับรู้ เพราะข้ออ้างที่ว่า เกษตรกรผู้ปลูกยังจำเป็นต้องใช้สารพิษ 3 ตัวนี้ แต่กลับไม่ตระหนักว่า ผลพวงการใช้สารพิษดังกล่าว ผู้บริโภคจะเป็นคนรับเคราะห์กรรมในท้ายที่สุด

4. ท่ามกลางมติเสียงโหวตส่วนมากของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นควรให้ "แบน" 3 สารพิษ แต่ขณะเดียว ในผลการโหวตทั้ง 3 สาร ยังมีเสียงที่เห็นด้วยกับการจำกัดการใช้สารพิษ สอดแทรกอยู่ด้วย คือ 5 เสียงสำหรับพาราควอต 4 เสียงสำหรับคลอร์ ไพริฟอส และ 7 เสียง สำหรับไกลโฟเซต

สะท้อนให้เห็นเสียงที่เป็นตัวแทนหรือนอมินีของกลุ่มผู้ค้า ผู้ผลิต และผู้นำเข้า ยังคง "ดันทุรัง" โหวตหนุนให้ใช้สารพิษต่อไป แม้ว่าครั้งนี้ กระแสสังคมในกลุ่มต้านสารพิษจะ "พีค" หรือมาแรงจัดถึงขีดสุดก็ตามที

สะท้อนให้เห็นความเหนียวแน่นในสายสัมพันธ์ของ 2 กลุ่มที่ว่าอย่างลึกซึ้งเกินคาด และเป็น "คำตอบ" ที่ชัดเจนว่า ทำไมการต่อสู้เรื่องสารพิษ จึงยืดเยื้อคาราคาซังกระทั่งถึงปัจจุบัน

กรรมการที่โหวตเสียงสวนทางให้ "แบน" สารพิษทั้ง 3 ตัว เป็นใคร เป็นข้าราชการในสังกัดหน่วยงานและกระทรวงไหน ถือเป็นสิ่งที่ผู้คนใคร่อยากรู้ และอยากให้เปิดเผย

รวมไปกระทั่งถึงคำถามที่ว่า แล้วกรรมการเหล่านี้ จะยังสวมบท "อย่างหนา-ห้าห่วง" นั่งเป็นกรรมการต่อไปอีกหรือไม่ หรือจะยอมถอย ลาออก ให้คนอื่นไปนั่งแทน

5. ต้องไม่ลืมว่า ผลประโยชน์เรื่องสารเคมีในภาคเกษตรกรรม มีมูลค่าปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท จึงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มผู้ค้าและนำเข้าจะยอมสูญเสียมูลค่าการตลาดเหล่านี้ไป การยื้อและถ่วงดึงจากหลากหลายวิธีการ จึงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง และคาดหมายว่า จะยังคงถูกนำมาใช้ต่อไป ตราบใดที่ยังมีช่องทางอยู่



หนนี้ เมื่อ "ยื้อเกินต้านทาน" 3 สารพิษกลายเป็น "ของต้องห้าม" แต่ในทางคู่ขนานกัน ยังจะมีสารเคมีตัวอื่น ถูกทางการเลือกให้เป็นสารเคมีทดแทน ซึ่งโดยคู่เหลี่ยมของกลุ่มผู้ค้าที่ร่ำรวยและแบ่งกัน "ผูกขาด" กับธุรกิจนี้ มายาวนาน จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่พวกเขาจะไม่ตระเตรียม "แผน 2" เพื่อสำรองไว้ ตั้งแต่ได้รับสัญญาณครั้งนี้ของจริง เหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด อย่างเช่น สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน ที่ผู้ค้าจะไม่มีเพียงยี่ห้อเดียว

กลยุทธ์การตลาดสำหรับ "เจ้าสัวอาชีพ" จึงไม่ต่างไปจากการเล่นหมากรุก ที่มีหลายกลยุทธ์วิธี ขึ้นอยู่กับผู้เล่นว่าจะเลือกเดินแบบไหน

ใช้เบี้ยเป็นตัวทะลุทลวง อย่างที่เรียกกันว่า "เบี้ยแลกขุน" ในสถานการณ์สบายๆ หรืออาจต้องใช้ "โคน ม้า แลกขุน" ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเคร่งเครียด

การแบน 3 สารพิษหนนี้ จึงยังมีเรื่องที่ต้องคิดและติดตามอีกเยอะครับ ด้วยยังไม่รู้ว่า ใครฉลาดกว่าใคร