ธนาธร–โจชัว ความเหมือนและความต่าง

2019-10-14 12:25:52

ธนาธร–โจชัว ความเหมือนและความต่าง

Advertisement

คงไม่ถูกต้องนัก หากจะสรุปว่า เพราะภาพถ่ายคู่กัน ระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก "Chinese Embassy in Bangkok" ระบุในตอนท้ายว่า มี "นักการเมืองไทย"บางคน สนับสนุนกลุ่มที่คิดจะแยกประเทศ ในระหว่างที่ม็อบฮ่องกงยังคงยืดเยื้อ


เพราะความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากของรัฐบาลจีน ขณะที่ฮ่องกงเป็นเพียงเขตปกครองพิเศษเท่านั้น ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน การขยับเคลื่อนไหวทั้งเปิดเผยและใต้ดิน ไม่มีทางเล็ดลอดสายตาพญามังกรได้เด็ดขาด อีกทั้งทางการจีนคงมีโปรไฟล์ข้อมูลทั้งของคนในและคนนอก ที่อยู่ในข่ายก่อหวอดหรือพยายามเข้าไปมีบทบาทในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว

การไปร่วมเวทีเสวนา Open Future Forum จัดขึ้นโดยนิตยสารดัง "ดิ อีโคโนมิสต์" ของนายธนาธร จึงควรต้องระมัดระวังและไม่ชะล่าใจตั้งแต่ต้น เว้นแต่จะมีเลศนัยหรือหวังให้เกิดผลตามมาบางประการ


ความจริงนายธนาธรไม่ได้โพสต์ภาพคู่กันลงในสื่อโซเชียล แต่เป็นนายโจชัวที่ไปโพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัว พร้อมชื่นชมเป็นผู้นำพรรคใหม่ที่เติบโตรวดเร็ว ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 3 เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และมีแนวทางต่อต้านระบบอนุรักษ์และเผด็จการชัดเจน

แต่กระนั้น ระหว่างพูดบนเวที นายธนาธรได้พูดตอนหนึ่งว่า การตั้งพรรคอนาคตใหม่ของเขา มีแรงบันดาลใจจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง เมื่อปี 2014 (พ.ศ.2557) ซึ่งครั้งนั้น รู้จักกันดีในนาม “ปฏิวัติร่มเหลือง” หรือ Umbrella Protest ผู้นำม็อบคือโจชัว หว่อง

นายธนาธร เกิดปี 2520 ส่วนนายโจชัว เกิดปี 2539 ทั้ง 2 คนมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลชนชั้นกลางเหมือนกัน (ขณะนั้นไทยซัมมิตเพิ่งก่อตั้งโดยบิดานายธนาธร ปี 2521) เป็นนักศึกษาที่สนใจและทำกิจกรรมตั้งแต่เป็นเยาวชนเหมือนกัน นายธนาธรเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษา เคยเป็นรองนายกฯ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2542 ปีต่อมาเป็น รองเลขาธิการ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย)


ส่วนโจชัว เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อายุ 13 ปี ในปี 2555 เป็นแกนนำต่อต้านหลักสูตรการศึกษา "โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน" สำหรับเยาวชนฮ่องกง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการชุมนุม “ปฏิวัติร่มเหลือง”

นายธนาธร ตั้งพรรคการเมืองเอง คือพรรคอนาคตใหม่ พร้อมจ่ายเงินให้กู้กับพรรค ซึ่งยังเป็นปัญหาในเชิงข้อกฏหมายอยู่ในขณะนี้ มุ่งเน้นนโยบายต่อต้านการเมืองแบบเก่า เอาใจคนรุ่นใหม่ ชูแนวทางปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และล่าสุด จะรื้อโครงสร้างกอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ)


นายโจชัว ก็ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง คือ พรรคเดโมซิสโต เมื่อปี 2559 พร้อมนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการลงประชามติตัดสินอนาคตของชาวฮ่องกง ภายหลังปี 2580 รวมถึงการเป็นเอกราช ไม่ขึ้นกับจีน ประเดิมจากส่ง ส.ส.รายแรกเข้าสภาได้ในการเลือกตั้งปี 2559 เป้าหมายถัดไป โจชัวจะลงชิงเก้าอี้สภาท้องถิ่น หรือ ส.ท.ในการเลือกตั้ง เดือนพฤศจิกายนนี้




นายธนาธร ซึ่งขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แม้ล่าสุดอัยการจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีไลฟ์สดวิจารณ์พลังดูด คสช. แต่ยังต้องลุ้นคดีที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางการเมืองอีกหลายคดี อาทิ ถือหุ้นสื่อ บ.วิลัคมีเดีย จำกัด คดียุงยงปลุกปั่น ช่วยเหลือผู้ต้องหา กรณีใช้รถตู้ไปรับตัวนายรังสิมันต์ โรม และพวกหลบหนีจากบริเวณด้านหน้า สน.ปทุมวัน และคดีถูกร้องพฤติการณ์ร่วมกับกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ และข้อบังคับพรรค ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายโจชัว มีคดีความด้านการเมืองติดตัวหลายคดีเช่นกัน อาทิ การปฏิวัติร่มเหลือง ถูกจำคุก 5 สัปดาห์ข้อหาหมิ่นศาลและละเมิดการประกันตัว ส่วนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนครั้งหลังสุด เขาถูกจับกุมตัวเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 มาแล้วครั้งหนึ่ง เรียกได้ว่าโชกโชนเรื่องคดีความตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน

แต่ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ ไทยเป็นประเทศเอกราช ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรก ระบุความสำคัญเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ขณะที่ฮ่องกงเป็นเพียงเขตปกครองพิเศษ แม้จะเป็นไปตามนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบของจีน แต่ฮ่องกงไม่ใช่ประเทศ

นอกจากนี้ แนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทย แม้กระทั่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่า ยังเป็นไม่เป็นประชาธิไตยที่แท้จริง การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต้องเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา

ขณะที่การเรียกร้องหวังปลดแอกจากรัฐบาลจีนของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีเป้าหมายขยายผลจากเดิมให้ยกเลิกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปถึงขั้นเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลจีน ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ ”เป็นไปไม่ได้” สำหรับทางการจีน

ยังไม่นับรูปแบบที่ใช้เพื่อหวังแก้ปัญหา ทั้งรวมกลุ่มปิดสนามบิน สถานีรถฟ้าใต้ดิน หรือย่านธุรกิจการค้า แทนการใช้ห้องประชุมสภาเพื่อหาทางออก มองผิวเผินอาจคิดว่า เป็นเสมือนเดินตามรอยการชุมนุมที่เยื้อยื้อในไทย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ความจริง ปัจจัยและบริบทของไทยขณะนั้น กับฮ่องกงขณะนี้ แตกต่างกันแทบสิ้นเชิง

การต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มพลังมวลชนมีขึ้นในผืนแผ่นดินไทย สิทธิเสรีภาพได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญอย่างเด่นชัด แต่ม็อบต่อต้านรัฐบาลจีน เกิดขึ้นที่ฮ่องกง ดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีน สิทธิเสรีภาพปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อจำกัด
หาไม่แล้ว รัฐบาลจีนคงไม่ใช้สถานเอกอัครราชทูตจีนในไทย ออกประกาศและร้องปรามนักการเมืองไทยบางคน ให้ใช้ความระมัดระวังเรื่องท่าที ทำในเรื่องที่จะเป็นปัญหาต่อมิตรภาพ จีน-ไทย

นี่จึงเป็นความแตกต่างชัดเจน ระหว่างนายธนาธร กับนายโจชัว