อธิบดีกรมควบคุมโรคเตือนช่วงเทศกาลออกพรรษา ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกช่วงเทศกาลออกพรรษาในหลายจังหวัดมักมีร้านค้านำดอกไม้ไฟ ประทัด และพลุ มาจำหน่ายจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนนิยมจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ซึ่งทุกปีจะมีผู้ได้รับอันตรายจากการจุดดอกไม้ไฟจำนวนหลายราย จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ จำนวน 250 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 94 เพศหญิง ร้อยละ 6 พบมากในกลุ่มอายุ 5-19 ปี ร้อยละ 43.2 โดยเฉพาะกลุ่มอายุระหว่าง 10-14 ปี และ 5-9 ปี พบร้อยละ 17.6 และ 15.6 ส่วนใหญ่เกิดเหตุในบ้านและบริเวณบ้าน ร้อยละ 66 เกิดเหตุในช่วงเดือน ต.ค.-ม.ค.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญหลายวัน อาทิ วันออกพรรษา วันลอยกระทง และวันขึ้นปีใหม่ โดยจังหวัดที่มีรายงานการบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น ตามลำดับ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากข้อมูลพบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด เพราะอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มาจุดเล่นเองตามลำพังหรือในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังและควบคุมการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดและควรสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไม่ใช่ของเล่น เป็นวัตถุอันตรายสำหรับเด็ก และห้ามเด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุมาจุดเล่นเด็ดขาด ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า คำแนะนำในการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยควรปฏิบัติดังนี้ 1.ไม่เล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน 2.ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟมาเล่น 3.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธีต้องอ่านคำแนะนำก่อน และควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน 4.ห้ามพยายามจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาด 5.ไม่เก็บประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แดดส่องถึง เพราะอาจเกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 6.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่เล่น ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 7.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้เล่นเองเด็ดขาด 8.ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อย่างเคร่งครัด และ 9.หากเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียได้ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มีหลายด้าน ดังนี้ 1.อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สินที่เสียหาย ทำให้ผิวหนังไหม้และทำให้บาดเจ็บและอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ ซึ่งบางรายรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดหรือนิ้วขาดได้ 2.อันตรายจากการได้รับสารเคมีต่างๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อหู ตา จมูก ทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขน ขา 3.อันตรายจากเสียงของระเบิดจากพลุและดอกไม้เพลิง มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหากเสียงดังมากแม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422