ดร. สาธิต รมช.สธ. ห่วงกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุซึมเศร้า เผยผลวิจัยต่างประเทศ อ้างฝนตกเป็นเหตุให้คนเหงาได้จริง ระบุแดดออกน้อยลดการผลิตสารเซโรโทนิน ส่งผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ได้ทวิตข้อความแจ้งประชาชน ผ่านทวิตเตอร์ @SantiPt เผยผลวิจัยฝนนั้นทำให้คนเหงาเป็นเรื่องจริง!! โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยของกาวิน แลมเบิร์ด (Gavin Lambert) สถาบันวิจัยเบเกอร์ (Baker Research Institute) เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทำวิจัยว่า อุณหภูมิ ฝนตก ระยะเวลาแดดออก และสภาวะความกดอากาศ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าแสงธรรมชาติมีผลต่อระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในทางที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสารที่มีผลต่อความรู้สึก โดยในวันที่แดดออกเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะผลิตสารดังกล่าวได้มากกว่าวันที่ระยะเวลาแดดออกน้อยหรือฝนตก เมื่อสารที่ว่านี้ลดต่ำลง จะส่งผลต่อการมีภาวะซึมเศร้า
ดร.สาธิต ยังระบุอีกว่า กล่าวคือมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งที่ทำได้นานๆ รู้สึกเหนื่อย ขาดพลังงาน ขาดความสนใจในกิจกรรมประจำวัน หงุดหงิดง่าย และต้องการนอนมากขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวันที่ฝนตก ดังนั้นการได้รับปริมาณแสงธรรมชาติที่พอเพียงในแต่ละวัน จึงมีผลดีต่อสุขภาพจิตใจ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ ควรหาโอกาสรับแสงธรรมชาติ เช่น การเดิน หรือ วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า หรือการจัดที่พักอาศัยให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงอย่างพอเพียง