นักวิทยาศาสตร์ 3 คน ชาวอเมริกัน อังกฤษ และญี่ปุ่น ร่วมกันพิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2562 จากผลงานการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียม-อิออน ที่ปูทางไปสู่โลกแห่งสมาร์ทโฟน และปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล
ประกาศของคณะกรรมการโนเบล แห่งราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันพุธ ระบุว่า นายจอห์น บี. กูเดนัฟ วัย 97 ปีชาวอเมริกัน นายเอ็ม. สแตนลีย์ วิทติงแฮม ชาวอังกฤษ และนายอากิรา โยชิโนะ ชาวญี่ปุ่น เป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2562 จากการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียม-อิออน เทคโนโลยีสำคัญ ที่จะทำให้โลกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
วิทติงแฮมพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมใช้งานได้เป็นครั้งแรก ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ก่อนที่กูเดนัฟจะเพิ่มประสิทธิภาพแบตเตอรี่เป็น 2 เท่า ในศตวรรษต่อมา และโยชิโนะขจัดลิเธียมบริสุทธิ์ออกจากแบตเตอรี่ ทำให้การใช้งานปลอดภัยมากกว่าเดิม
คำสดุดีของคณะกรรมการโนเบล ตอนหนึ่งกล่าวว่า "แบตเตอรี่ลิเธียม-อิออน ปฏิวัติการดำรงชีวิตของมนุษย์ และถูกนำไปใช้ในทุกอย่าง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์วางตัก ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสาม ช่วยวางรากฐานให้โลกก้าวไปสู่สังคมไร้สาย และปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล"
นอกเหนือจากใบประกาศเกียรติคุณ และเหรียญทองคำแล้ว ผู้พิชิตรางวัลทั้ง 3 คนจะแบ่งรางวัลเงินสดเท่ากัน จากจำนวน 9 ล้านโครนสวีเดน หรือ 27.6 ล้านบาท โดยพิธีรับมอบรางวัลจะมีขึ้นที่กรุงสตอกโอล์ม ในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล เศรษฐีนักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน ผู้ทำพินัยกรรมก่อตั้งมูลนิธิรางวัลโนเบล
รางวัลโนเบลสาขาต่อไปของปีนี้คือ สาขาวรรณกรรม ประกาศผลในวันที่ 10 ต.ค. สาขาสันติภาพที่ทั่วโลกให้ความสนใจจับตามองมากที่สุด ประกาศวันที่ 11 ต.ค. ก่อนจะปิดท้ายด้วยสาขาเศรษฐศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 14 ต.ค.