เรื่องราวของขี้ลืมกับภาวะสมองเสื่อม (หลงลืม) แตกต่างกันอย่างไร

2019-10-05 06:00:51

เรื่องราวของขี้ลืมกับภาวะสมองเสื่อม (หลงลืม) แตกต่างกันอย่างไร

Advertisement

เรื่องราวของขี้ลืมกับภาวะสมองเสื่อม (หลงลืม) แตกต่างกันอย่างไร

ก่อนจะพูดเรื่องขี้ลืมและสมองเสื่อมขอพูดเรื่อง “ความจำ” ก่อน

ความจำ เป็นหน้าที่หนึ่งของสมองซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถของสมอง ผู้ที่จำได้ดี จำแม่น ก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็นคนสมองดี

ขบวนการจำ : เริ่มต้นจาก 1) มีสิ่งเร้า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความรู้สึก มากระตุ้นประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดการรับรู้และบันทึกเป็นความจำ ขั้นตอนนี้ทางการแพทย์เรียกว่าการลงทะเบียน (registration) 2) การจัดเก็บข้อมูล (storage) 3) การดึงข้อมูลออกมาใช้ (retrieval) กระบวนการขั้นที่ 1 จะต้องมีความใส่ใจหรือการจดจ่อ (attention) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างดี ถ้ามีสิ่งกระตุ้นเข้ามาแต่ไม่มีการจดจ่อ หรือไม่มีสมาธิอยู่กับสิ่งนั้นก็ไม่เกิดเป็นความจำ เช่น พระเทศน์ ญาติโยมนั่งประยมมือฟังพระเทศน์แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าพระเทศน์เรื่องอะไร เพราะไม่ได้เอาใจใส่จดจ่อลงไปกับสิ่งที่ได้ยินจึงไม่เกิดเป็นความจำ

คนจำนวนมาบอกว่า ขี้ลืม เช่น จอดรถ เดินออกมาจากรถได้ไม่ถึง 10 ก้าว ก็จำไม่ได้ว่าล็อครถหรือยัง เดินกลับไปดูก็พบว่าล็อคแล้ว แต่ทำไมจึงจำไม่ได้ อย่างนี้เป็นเพราะเกิดกระบวนการการล็อครถ (มือกดล็อค) แต่ขาดการจดจ่อ ตั้งใจ ใช้เวลาชั่วขณะ จึงไม่เกิดเป็นความจำ ไม่ได้เรียกว่า ขี้ลืม เพราะจริงๆ ยังไม่ได้จำเลย

แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่กินเวลายาวๆ เช่น การกินอาหาร การไปเที่ยว ไปงานแต่งงาน มีกระบวนการก่อนไป ระหว่างไป และหลังไปมากมายหลายสิ่ง ร่างกายจะค่อยๆ เก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นเป็นความจำ ซึ่งจะกระจ่างชัดเจนเพียงใดขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึกในขณะนั้นร่วมด้วย ถ้าสุข สนุก หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็จะจำได้ดี แต่ถ้ามีเรื่องขุ่นคาใจ เสียใจ น้อยใจ การบันทึกข้อมูลก็อาจไม่ชัดเจนเท่าคนอื่นๆ พอรื้อฟื้นก็อาจจะได้รายละเอียดไม่เท่ากัน

สรุปว่า การบันทึกความจำต้องมีสิ่งกระตุ้น มีการจดจ่อ และอารมณ์ความรู้สึกที่ดีจึงจะบันทึกความจำได้ดี ในผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยเฉพาะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ บกพร่องเรื่องการบันทึกข้อมูล (registration) เหตุการณ์ใหญ่ที่น่าสนใจ อารมณ์ดี แต่เก็บข้อมูลไม่ได้และจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้เลย เช่น กรณีผู้สูงอายุที่เคยอดแหวนตัวเองให้หลานสะใภ้ในวันแต่งงานของหลานชายเพื่อรับขวัญหลานสะใภ้ แต่พอมาเจอกันภายหลังกลับถามหลานสะใภ้ว่า “แหวนฉันไปอยู่กับเธอได้อย่างไร” นี่เป็นการลืมเหตุการณ์ไปทั้งช่วงที่แสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นอาการของภาวะสมองเสื่อม

ลองมาดูกันอีกทีว่ากระบวนการของการจำและความเคยชินอย่างไหนที่เรียกว่า ขี้ลืม อย่างไหนที่เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม จากกรณีตัวอย่าง การเก็บกุญแจรถ ดังนี้  ปกติพอเอารถจอด เข้าบ้านเรียบร้อยนางสาว ก. จะเก็บกุญแจใส่กระเป๋าไว้ทุกครั้งตาม ความเคยชิน จนร่างกาย จดจำ แล้วว่ากุญแจจะถูกเก็บไว้ในกระเป๋าเท่านั้น เมื่อจะหยิบใช้ก็จะหยิบจากในกระเป๋าออกมาได้ทันทีอย่างไม่ต้องลังเลหรือคิดก่อนว่าจะอยู่ตรงไหน วันหนึ่งเกิดเก็บไว้ผิดที่ด้วยความที่รีบและคุยโทรศัพท์ไปด้วยดันไปวางไว้ที่ข้างทีวี พอจะหยิบใช้กลับไปหาในกระเป๋าหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอและนึกไม่ออกว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน

อย่างนี้ไม่เรียกว่าสมองเสื่อม แต่เป็นเพราะการวางกุญแจรถขณะนั้นเป็นการวางไปอย่างงั้นเอง วางส่งๆ จึงไม่ได้จดจำจดจ่อกับการกระทำ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่านางสาว ก. ยังไม่มีความจำเกิดขึ้นเลย จึงทำให้นึกไม่ได้ว่าวางกุญแจไว้ที่ไหน จะเรียกว่าลืมก็ไม่ได้เพราะยังไม่ได้จำ ย้ำกันอีกที แต่...ถ้าหากนางสาว ก. วางกุญแจรถอยู่ที่เดิมอย่างนั้นไม่เคยเปลี่ยนที่ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งกลับไปหากุญแจรถอีกที่หนึ่ง เช่น โต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะกินข้าว หรือข้างทีวี เป็นต้น ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าน่าจะมีความไม่ปกติเกิดขึ้นแล้ว

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล