แบน “พาราควอต” ต้องชัดเจนไม่แทงกั๊ก

2019-10-03 20:00:18

แบน “พาราควอต” ต้องชัดเจนไม่แทงกั๊ก

Advertisement

น่าจะถึงบางอ้อ รู้คำตอบกันชัดเจนแล้วว่า เหตุใดการแบนสารเคมีอันตรายอย่างพาราควอต สารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกใช้มากที่สุดในโลกและในไทย พร้อมสหาย (ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส) จึงยืดเยื้อคาราคาซังกระทั่งถึงปัจจุบัน


แม้นว่าหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และลาว ล้วนแต่แบน ไม่ให้นำเข้าพาราควอตกันหมดแล้ว

เมื่อมีข่าวเล็ดลอดจากวงใน มีความพยายามเจรจาจากตัวแทนหรือล็อบบี้ยิสต์ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้ขวางให้ยื้อเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด โดยมีผลประโยชน์ตกหล่นติดปลายนวมให้ด้วย เป็นตัวเลขหลักพันล้านบาท

ไม่เพียงเฉพาะช่วงกระแสเรียกร้องให้แบน พาราควอตและสหาย กำลังร้อนระอุอย่างในตอนนี้เท่านั้น ก่อนหน้านั้น สาเหตุของความล่าช้า ไม่มีใคร หรือหน่วยงานไหน กล้าทุบโต๊ะเลิกเป็นเลิก กระทั่งตกทอดถึงวันนี้ ก็ชัดเจนว่า เป็นเพราะมีน้ำยาหล่อลื่นมหาศาล ตกหล่นเรี่ยราดมาโดยตลอด


ตัวเลขมูลค่าการตลาดของสารเคมีกำจัดวัชพืช จากนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องนี้มาร่วม 20 ปี และปัจจุบัน เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม อยู่ที่ประมาณ 6-8 หมื่นล้านบาทต่อปี เฉพาะพาราควอต นำเข้าคิดเป็นประมาณ 30% ของสารเคมีทั้งหมด เท่ากับมีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น วงเงินลงขันพันกว่าล้านบาทที่ลือสะพัดจากวงในจึงจิ๊บจ๊อยมาก กับผลประโยชน์ที่ผู้ค้า ผู้นำเข้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชี้ชะตา แบน-ไม่แบน จะได้รับ


พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล แสดงจุดยืนค่อนข้างชัดแจ้งกว่าใครเพื่อน ว่าต่อต้านและไม่เอาพาราควอตและสหาย ทั้งจากท่าทีของ นายอนุทินเองในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข

ขณะเดียวกัน โควต้า 4 คนของพรรคภูมิใจไทยในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ของสภาผู้แทนฯ เป็นคนนอกและล้วนได้รับการยอมรับว่าต่อสู้กับเรื่องนี้มานานถึง 3 คน คือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกข่มขู่จะไม่มีเงาหัว รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และเป็นหนึ่งกรรมการวัตถุอันตราย และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ. มูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai ที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ใหญ่ที่สุด


จุดยืนเบื้องต้นของกรรมาธิการฯ ชุดนี้ คือไม่เอาพาราควอตชัดเจน

ไฮไลท์สำคัญ จึงอยู่ที่รัฐมนตรีเกษตรฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน คนจะมีอำนาจตัวจริงเสียงจริงว่าจะลงนามแบน ยกเลิกการนำเข้าหรือไม่ หลังจากถูกตั้งข้อสังเกตุจากสื่อ นักวิชาการ และองค์กรประชาสังคม 700 องค์กรที่ต่อต้านเรื่องนี้ ว่ายังแทงกั๊ก ทั้งจากอ้างถึงต้องมีข้อมูลชัดเจนว่าถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชน ไม่ควรฟังข้อมูลฝ่ายเดียว รวมถึงการโยนเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นผู้ตัดสินให้คำตอบ




ขณะที่เจ้าตัวออกโรงยืนยันล่าสุด ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้พาราควอตและสหาย แต่การยกเลิกจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ และพร้อมจะดำเนินการทันที หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบน เลิกนำเข้า
สรุปแล้ว ยังต้องร้องเพลงรอ ต่อไปอีกอย่างน้อย 60 วัน หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายขอเลื่อนการพิจารณาศึกษาผลกระทบออกไปอีก 60 วันดังกล่าว

ระยะนี้ ก็เร่งขาย ระบายสินค้าในสต๊อคกันไปก่อน