ย้ายเมืองหลวง ฝันที่คนอยากได้ แต่อาจยาก

2019-09-25 20:00:10

ย้ายเมืองหลวง ฝันที่คนอยากได้ แต่อาจยาก

Advertisement

ที่มาที่ไป เรื่องย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันก่อน ที่มาของเรื่อง เกิดจากสื่อของญี่ปุ่นนำเสนอข่าวเมืองหลวงของอินโดนีเซียและไทย เสี่ยงต่อการเป็นเมืองบาดาล เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา 


นิเคอิ อาเซียน รีวิว รายงานว่า เมืองจาการ์ต้าเจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่ถึง 70% ของพื้นที่เมื่อปี 2550 เนื่องจากแผ่นดินเมืองหลวงแห่งนี้ทรุดลงปีละ 7.5-10 เซ็นติเมตร เหตุจากการพัฒนาระบบระบายน้ำล่าช้า บวกกับการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จำนวนมาก ทำให้ประธานาธิบดีอินโดฯ โจโค วิโดโด ประกาศจะย้ายเมืองหลวงไปที่กะลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว โดยจะใช้งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีประชากรประมาณ 1 ล้านคนตามไปตั้งรกรากที่เมืองหลวงแห่งใหม่ 


ส่วนกรุงเทพฯ สื่อสำนักนี้ของญี่ปุ่นรายงานว่า ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร และอ้างอิงข้อมูลของไจก้า หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นด้วยว่า แผ่นดินของเมืองหลวงไทยจมลงปีละ 2 เซ็นติเมตร จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2573 หรือ 11 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่จมน้ำ 40% หากไม่มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน ไจก้า ยังระบุย้อนหลังกลับไปในปี 2554 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯและภาคกลาง สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจถึง 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไจก้าได้มีข้อแนะนำให้รัฐบาลไทย สร้างทางระบายน้ำลดความสูญเสียจากน้ำท่วม แต่เพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ทำให้เกิดความล่าช้า เฉพาะโครงการแรกจะแล้วเสร็จในราวปี 2568 โน่น!


ก่อนหน้าที่สื่อญี่ปุ่นจะนำเสนอเรื่องนี้เล็กน้อย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เสนอให้มีการย้ายเมืองหลวงเพื่อลดปัญหาความแออัดของกรุงเทพฯ โดยยกตัวอย่างเมียนมาร์ มาเลเซีย และล่าสุด อินโดนีเซีย ดร.อาทิตย์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ แออัดยัดเยียดมาก ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ความเจริญต่างๆ จึงไม่ได้กระจายออกไป กรุงเทพฯ ไม่เพียงมีปัจจัยเรื่องแผ่นดินทรุด น้ำท่วมเป็นประจำทุกปีช่วงหน้าฝนเท่านั้น ยังมีปัญหามลภาวะเป็นพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ติดอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการจราจรที่ติดขัดติดอันดับโลก คนขับรถเสียเวลารถติดบนถนนเฉลี่ยวันละ 72 นาที และอีก 24 นาทีเพื่อวนหาที่จอด กรุงเทพฯ มีปริมาณรถประมาณ 5.8 ล้านคัน ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 8 เท่าของสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิจึงจะจอดรถได้เพียงพอ มีรถวิ่งบนท้องถนน 160% ของจำนวนที่จะรองรับได้ คือมีมากกว่าพื้นที่ถนนจริง และมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกปล่อยออกเต็มพื้นที่ขนาดตึกขนาดใหญ่ 23,000 ตึก ยังไม่นับรวมปัญหาคุณภาพชีวิตจากความเป็นอยู่อย่างแออัด ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดที่แพร่ระบาดทุกพื้นที่ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาการใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดเรื่องนี้แล้ว จะเสียงขานรับเป็นส่วนใหญ่จากผู้คนในโลกโซเชียล แม้บางส่วนเสนอให้ย้ายเฉพาะสถานที่ราชการออกไป แต่ในทางปฏิบัติ ก็ต้องมีการเตรียมการ และการใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมหาศาลอยู่ดี ที่สำคัญ การจะย้ายเมืองหลวง หรือแม้แต่ย้ายสถานที่ราชการไปออกไปอยู่ที่ใหม่ ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้ทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยสิบๆ ปีขึ้นไป อาจจะ 20-30-40 ปี แต่ต้องมีแผนปฏิบัติการหรือแอ๊คชั่นแพลน ล่วงหน้า เพียงแต่อย่าทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ หรือเปลี่ยนคน เปลี่ยนรัฐบาล ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ เหมือนกับหลายๆโครงการที่ถูกเก็บพับใส่ลิ้นชัก ไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะเรื่องผลประโยชน์และผลงานคะแนนนิยม เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็เก็บความฝันเอาไว้ ตั้งหน้าตั้งตารับสภาพสาระพัดที่คนกรุงประสบกันอยู่ต่อไปดีกว่าครับ