"ดร.ธรณ์"แจงขั้นตอนศึกษา "ไมโครพลาสติก"

2019-09-11 12:20:50

"ดร.ธรณ์"แจงขั้นตอนศึกษา "ไมโครพลาสติก"

Advertisement

"ดร.ธรณ์"แจงขั้นตอนละเอียดยิบการศึกษา "ไมโครพลาสติก"ในทะเล และสัตว์น้ำ ทำมา 2-3 ปีแล้ว  เผยเจอถุงพลาสติกตามแนวปะการังเพียบสามารถอธิบายการแตกตัวของ"ไมโครพลาสติก"ได้เป็นอย่างดี  ชี้พลาสติกต้นตอมาจากประเทศไทย ไม่ได้ลอยมาจากเพื่อนบ้าน 

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟชบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า เรื่องไมโครพลาสติกกำลังดัง เมื่อศูนย์วิจัยอุทยานพบไมโครพลาสติกในปลาเฉลี่ย 78 ชิ้น/ตัว พลาสติกในท้องปลามาจากไหน เพื่อนธรณ์ลองดูภาพถุงพลาสติกที่เราเพิ่งเก็บมาจากใต้ทะเลสิครับ ถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ ตราบใดที่ถุงยังอยู่ เศษพลาสติกก็หลุดออกมาเรื่อยๆ การเก็บขยะทะเล จึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกัน ขอบคุณท่าน รมต.วราวุธด้วยฮะ เพราะการแบนถุงก๊อบแก๊บในเดือน ม.ค.ปีหน้า จะช่วยลดต้นตอไมโครพลาสติกไปได้อีกเยอะเลย เมื่อแตกออกมาแล้วในน้ำมีเยอะไหม ผมนำเครื่องมือเก็บไมโครพลาสติกลากในทะเล จากนั้นก็นำมากรองใส่ขวดที่อยู่ในมือผม จะเห็นเม็ดเล็กๆ ที่ก้นขวด นั่นแหละครับคือไมโครพลาสติก (บางส่วน) เมื่อนำไปส่องดูในกล้อง เราจะเห็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร มีอยู่หลายแบบเลยฮะ ปลาบางชนิดกินแพลงก์ตอนในน้ำ ก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้อง บางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ เรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุอีกว่า สัญญากับเพื่อนธรณ์ไว้ จะมาเล่าเรื่องการศึกษาไมโครพลาสติกให้ฟัง เป็นแบบบรรยายสนุกๆ ประกอบภาพเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เผื่อจะนำไปใช้สอนหรือบอกต่อ เป็นงานสดๆ ร้อนๆ ชนิดพิมพ์ไปมือยังเปียกน้ำเลยฮะ อันดับแรก ขอเกริ่นนำแบบสั้นๆ การศึกษาไมโครพลาสติกในทะเล แบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกคือดูในสิ่งแวดล้อม อีกอย่างคือดูในสัตว์น้ำ การดูในสัตว์น้ำเริ่มทำกันมา 2-3 ปีในไทย ผลก็บอกว่าพบแทบทุกครั้ง มากน้อยแตกต่างกันไป ในแง่การรณรงค์ลดขยะทะเลและอื่นๆ ข้อมูลในสัตว์น้ำพวกนี้มีประโยชน์ แต่ในแง่ฐานข้อมูล เพื่อใช้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทะเล ตลอดจนวัดผลมาตรการต่างๆ ที่ใช้ลดขยะทะเล เรายังต้องการข้อมูลไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม หากไม่มีข้อมูลแบบนี้ คงเป็นการยากที่จะวัดได้ว่า ที่เราทำๆ กันไป ได้ผลแค่ไหน หากเป็นเด็กนักเรียนก็เหมือนผลสอบ หากเป็นบริษัท ก็เหมือนผลประกอบการ เป็นงานที่ยาก แต่จำเป็นต้องมีนะ ต่อจากนี้คืองานที่คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ทำโดยใช้ทุนสนับสนุนจากเพื่อนธรณ์ผู้กรุณาซื้อเสื้อ ขอบคุณมากครับ อ่านบรรยายใต้ภาพไล่ไปได้เลยครับ


ทีมงานมุ่งหน้าออกทะเล ความจริงมีคนเยอะกว่านี้ แต่ใครไม่ได้ใส่เสื้อทีมเพื่อนธรณ์ห้ามเสนอหน้า จึงเห็นอยู่แค่นี้ ทุกคนเป็นลูกศิษย์ผมที่คณะประมง ตอนนี้หลายคนจบเป็นดร. บางคนเงินเดือนค่อนแสนแล้วก็ยังมาช่วยกัน น่ารักเนอะ


เริ่มบริฟงานโดยอาจารย์สุดหล่อ ภาพนี้มี 3 ขั้นตอนง่ายๆ 1. เก็บไมโครพลาสติกโดยใช้ถุงลากจากมวลน้ำ ตัวเลข 330 หมายถึงขนาดถุง 330 ไมครอน ที่ปรกติใช้ลากแพลงก์ตอนสัตว์ เราจะลาก 15 นาที  2. ลากเสร็จแล้วก็นำมาส่องด้วยกล้องสองตา เพื่อวิเคราะห์ในขั้นต้น 3. อันนี้เจ๋งฮะ เพราะเป็นเครื่องใช้วิเคราะห์โดยละเอียด ที่คณะประมงมีแล็บต่อต้านขยะทะเล บ.GC กรุณาให้เครื่องมา ผมนำเงินส่วนอื่นๆ มาเสริม เช่น เงินค่าเสื้อเต่ามะเฟือง มีตัวเลข 5 ล้านเพื่อแสดงมูลค่าแลปที่กว่าจะทำเสร็จ ธรณ์หอบแฮ่กครับ


เมื่อถึงพื้นที่ เราใช้โดรนตรวจสอบเพื่อดูกิจกรรมในพื้นที่ จะได้ไอเดียหาที่มาของพลาสติก รวมถึงลักษณะภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม ก่อนกำหนดเส้นทางที่จะเก็บตัวอย่าง อ้อ โดรนที่ใช้ก็เป็นของส่วนตัว ซื้อเองอีกจ้ะ ของธรณ์ส่วนใหญ่ตังค์ธรณ์ทั้งนั้น ไม่ใช่ของหลวงฮะ เพราะฉะนั้น เวลาธรณ์ขายอะไร ก็ช่วยกันซื้อหน่อยนะจ๊ะ


คราวนี้ถึงเวลาประกอบอุปกรณ์ เครื่องนี้ราคาเกือบ 6 หมื่น ลำพังถุงไม่เท่าไหร่ ที่แพงคือ flow meter ใช้วัดปริมาตรน้ำที่ผ่านถุง ไม่มีตัวนี้ เราไม่สามารถคิดจำนวนไมโครพลาสติก/ปริมาตรน้ำได้ 




นี่แหละฮะตัวแพง แฮนด์เมดจากญี่ปุ่น เฉียดแสน อันที่จริง ผมขอแค่ของเยอรมัน เป็นแบบเจ็ตเลย ตัวละ 35,000 บาท เดี๋ยวขายเสื้ออีกดีกว่า แฮ่ม


จากนั้นก็ปล่อยถุงลงไปลาก ในระดับต่ำกว่าผิวน้ำไม่เกิน 1 เมตร ลากด้วยความเร็ว 2 นอต เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที (ขึ้นกับสภาพน้ำ หากไกลฝั่งน้ำใสอาจนานกว่านี้เพื่อรวบรวมให้พอ) แต่เรามี flow meter คอยวัด เพราะฉะนั้น ไงๆ เราก็คำนวนหาค่าเฉลี่ยได้อยู่ดีตอนลากต้องระวังนะครับ หลุดไปก็เตรียมใจทิ้งเงินแสนลงทะเล


ลากเสร็จแล้วนำขึ้นมา ใช้น้ำล้างให้เศษที่ติดตามถุง ลงไปอยู่ในขวดให้หมด


จากนั้นก็ปล่อยน้ำใส่ขวดตัวอย่างที่เตรียมไว้ บางหนต้องใช้เวลาพอควร อย่างเช่นหนนี้ได้หวีวุ้นมา 1 ตัว มันอุดรูตลอด ฮึ่ม




เสร็จแล้วก็เก็กหน้าให้หล่อ ก่อนชี้ไมโครพลาสติกที่ก้นขวดให้เพื่อนธรณ์ดู แม้ตัวจะดำเพราะตากแดดตลอด แต่มันก็ดูเท่สไตล์ผู้ชายทำงาน


ในขณะเดียวกัน ทีมงานดำน้ำก็ลงไปเก็บขยะจากแนวปะการัง เรานำขยะมาแยก ผมเจอถุงแบบนี้เพียบเลย สามารถอธิบายการแตกตัวของไมโครพลาสติกได้เป็นอย่างดี


จากนั้นก็นำตัวอย่างมาส่องกล้อง เราบอกได้นิดหน่อย เช่น รูปร่างและสี จำนวนชิ้น แต่ฟันธงไม่ได้ว่าคืออะไร ส่วนใหญ่งานวิจัยจะจบอยู่แค่นี้ เมื่อจบแค่นี้ ก็ไปต่อไม่ได้ เพราะเราบอกไม่ได้ว่าไมโครพลาสติกมาจากอะไร ถุงก๊อบแก๊บ ถุงร้อน พลาสติกอื่นๆ อีกมหาศาล เมื่อไม่รู้ต้นตอชัดเจน เราก็บอกสัดส่วนไมโครพลาสติกตามแหล่งที่มาไม่ได้ ออกมาตรการใดๆ ก็ชี้วัดลำบาก นั่นคือเหตุผลที่ผมใช้เวลาสองปี เพื่อสร้างแล็บต่อต้านขยะทะเล โดยมีบริษัท GC เป็นผู้สนับสนุนหลัก เพราะขืนรองบหลวง ผมคงเดี้ยงก่อน



นี่คือแล็บที่ว่า อย่างเจ๋งครับ อุปกรณ์แต่ละอย่างแพงทั้งนั้น เฉพาะตาชั่งละเอียดก็ห้าแสนเศษ ไม่งั้นเราชั่งน้ำหนักไมโครพลาสติกไม่ได้ บอกได้แค่จำนวนชิ้น มันไม่พอเห็นแล็บแล้วอยากร้องไห้ กว่าจะสำเร็จ ปาดน้ำตาแพร้บ ขอบคุณบริษัท GC ครับ



เด็ดสุดของแล็บคือ FTIR ใช้การสะท้อนแสงของไมโครพลาสติก นำมาเทียบกับรูปแบบการสะท้อนที่มีในฐานข้อมูลกว่า 36,000 แบบ รู้เลยว่าเป็นพลาสติกแบบไหน และต้นตอคือผลิตภัณฑ์อะไร (เฉพาะเครื่องนี้ 4.5 ล้านจ้ะ)




นี่ไงครับ ตัวอย่างการวิเคราะห์ กราฟสะท้อนแสง จะบ่งบอกที่มาได้ 


จากนั้นก็นำข้อมูลอื่นๆ มาประกอบ เช่น โมเดลกระแสน้ำ บ่งบอกว่าจุดที่ทำในเขตอ่าวไทยตอนใน พลาสติกต้นตอมาจากประเทศไทยนี่แหละ ไม่ได้ลอยมาจากเพื่อนบ้าน (สังเกตลูกศรกระแสน้ำได้ครับ)


เรายังเก็บขยะทะเลในบริเวณนั้นเท่าที่ทำได้ ชั่งน้ำหนักและแยกชนิด เพื่อดูว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติกที่พบหรือไม่ สรุปรืองานไมโครพลาสติกในทะเลของบ้านเรา เพิ่งเริ่มไม่นาน แต่ความต้องการข้อมูลมีสูงมาก เราก็อยากก้าวหน้าไปไวๆ แต่มันยากและต้องอาศัยอะไรอีกหลายอย่าง นอกเหนือไปจากแรงใจเพียงอย่างเดียว เอาไว้วิเคราะห์เสร็จ จะนำมารายงานเพื่อนธรณ์อีกครั้ง ตอนนี้ขอไปพักก่อน โอย...ตัวดำ อูย...เมาคลื่น อยากได้คนโอ๋จัง


สุดท้าย ขอบคุณลูกศิษย์ทุกราย ทั้งหน้ากล้องและหลังกล้อง เรียกปุ๊บ มาปั๊บ ไม่ว่าแยกย้ายไปหนไหน กตัญญูกับอาจารย์จริงๆ และจงกตัญญูเช่นนี้ต่อไปทั้งชีวิตละกัน ขอบคุณคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ และเพื่อนๆ ผู้กรุณาสนับสนุนเสื้ออีกครั้ง เห็นแล้วนะครับว่าตังค์ที่ผมได้เอาไปทำอะไร ขายรุ่นใหม่ก็อย่าพลาดอีกนะจ๊ะ

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat