"อินเดียไปไม่ถึงดวงจันทร์" (คลิป)

2019-09-09 13:30:55

"อินเดียไปไม่ถึงดวงจันทร์"  (คลิป)

Advertisement

ความพยายามครั้งประวัติศาสตร์ของอินเดีย ในการนำยานสำรวจดวงจันทร์ “วิกรม” ร่อนลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลว เพียงไม่กี่นาที ก่อนที่ยาน “วิกรม” ซึ่งเป็นยานลูกของยาน “จันทรายาน-2” จะลดระดับแตะพื้นผิวดวงจันทร์ เนื่องจากยานจันทรายาน-2 ขาดการติดต่อไปดื้อ ๆ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. ซึ่งขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุการขาดการติดต่ออยู่

เค.สิวาน ประธานองค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย หรืออิสโร ซึ่งเทียบเท่ากับองค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซา ของสหรัฐ กล่าวว่า การลดระดับลงของยาน “วิกรม” เป็นไปตามแผน และทุกอย่างก็ดำเนินไปตามปกติขณะยานอยู่เหนือพื้นผิวของดวงจันทร์ เพียง 2.1 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ทันใดนั้น การติดต่อกับสถานีบนพื้นโลกกลับขาดหายไป

ห้องควบคุมภารกิจนี้ในเมืองเบงกาลูรู รัฐกรณาฎกะ ที่เต็มไปด้วยบรรดานักวิทยาศาสตร์ ที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ขณะข้อมูลอัพเดตจากยาน ค่อย ๆ หายไป ฝูงชนที่เริ่มฉลองเล็ก ๆ แล้วระหว่างยาน “วิกรม” คอย ๆ ลดระดับลงสู่พื้นผิวแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์ และทุกคนต่างลุ้นว่า ยานจะแตะผิวดวงจันทร์ในเวลา 01.55 น.ของวันเสาร์ที่ 7 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว “ทุกคนเงียบกริบ”




ความหวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศที่ 4 ในการส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ ต่อจากสหรัฐ, อดีตสหภาพโซเวียต และจีน และจะเป็นครั้งแรกในการส่งยานไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ ดับวูบลงทันที หลังเวลา 02.00 น.ของวันเสาร์ เมื่ออิสโร ขาดการติดต่อกับยาน “วิกรม” เพราะปรากฏว่าวิถีของยานวิกรมเคลื่อนตัวออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ จนศูนย์ควบคุมภารกิจไม่สามารถติดต่อกับยานอวกาศได้ ภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ที่ล้มเหลวของจันทรายาน-2 ทำให้อินเดียยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปทาบความสำเร็จของชาติมหาอำนาจด้านอวกาศทั้ง 3 ประเทศข้างต้นได้

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำของอินเดีย แถลงหลังการประกาศความล้มเหลวดังกล่าวว่า ในชีวิตคนเรา มีขึ้นมีลง ประเทศภาคภูมิใจในตัวพวกคุณและการทำงานหนักของทุกคน ได้เป็นบทเรียนสอนบางสิ่งบางอย่างให้กับพวกเรา ทุกคนหวังว่าจะได้ในสิ่งที่ดีที่สุด พวกคุณได้รับใช้ประเทศชาติเป็นอย่างดีแล้ว และรับใช้วิทยาศาสตร์และมนุษยชาติด้วย



ในเวลาต่อมา โมดี ซึ่งอยู่ในห้องควบคุมภารกิจด้วยเพื่อลุ้นขณะยานเตรียมลงจอดพื้นผิวดวงจันทร์ ทวิตข้อความอีกว่า “พวกเรายังมีความหวัง และจะเดินหน้าทำงานหนักในโครงการสำรวจอวกาศต่อไป”

สำหรับ จันทรายาน-2 ซึ่งไม่มีนักบินอวกาศควบคุม ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศสาธิตตาวัน ในรัฐอานธรประเทศ ทางภาคใต้ของอินเดีย เมื่อวันที่ 22 ก.ค. และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ก่อนเตรียมลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ในวันที่ 7 กันยายน และสัญญาณขาดหายไป







เมื่อปี 2551 อินเดียเคยส่งยานอวกาศจันทรายาน-1 ขึ้นไปสำรวจหาแหล่งน้ำบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วยระบบเรดาร์ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์โครงการแรกของอินเดีย

ส่วนภารกิจ จันทรายาน-2 จะส่งยานอวกาศไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อวิเคราะห์พื้นผิวดวงจันทร์หาร่องรอยของน้ำและฮีเลียม-3 ที่ทุกคนตามหา ฮีเลียม-3 คือก๊าซที่ผันแปรของก๊าซฮีเลียมที่ใช้เติมบอลลูน โลกเรามีก๊าซนี้น้อยมาก แต่ดวงจันทร์มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ มันสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยขึ้น ทำให้ได้พลังงานจำนวนมหาศาล โดยไม่มีกากนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล แต่เรายังห่างไกลจากจุดนั้น

หลายประเทศและหลายบริษัท กำลังแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีสกัดและขนส่ง ฮีเลียม-3 มายังโลกของเรา ถ้าสำเร็จ มันอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในชีวิตของเราและการขับเคลื่อนโลกของเราไปตลอดกาล



อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอินเดียไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าวันหนึ่ง หากยังมีความพยายามและมุ่งมั่น อินเดียจะไปถึงดวงจันทร์ได้สมความปรารถนา ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียน นำข้อบกพร่องมาแก้ไข พยายามต่อไป

แต่อินเดียมีแผนส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ เป็นครั้งแรกของประเทศ ในปี พ.ศ. 2565 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า