"ธนาธร" ชี้ปัญหา รธน.ปี 60 ทำรัฐบาลไม่ฟังประชาชน

2019-09-08 23:00:53

"ธนาธร" ชี้ปัญหา รธน.ปี 60 ทำรัฐบาลไม่ฟังประชาชน

Advertisement

วงเสวนา "จินตนาการใหม่" "หม่อมอุ๋ย" หนุนแก้ รธน.ปี 2560 ชี้ไม่มีทางทำชีวิตประชาชนดีขึ้น ด้าน "สมเกียรติ"ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเหลื่อมล้ำ ขณะที่ "ธนาธร" เผยปัญหา รธน.ปี 2560 ทำให้รัฐบาลไม่ฟังประชาชน

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่หอประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานบรรกาศกิจกรรม "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์หาฉันทานุมัติร่วมกันสำหรับการร่างรัฐฉบับใหม่ โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับปากท้องประชาชน" วิทยากรได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช จากทีดีอาร์ไอ รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวถูกเจ้าหน้าทีรัฐกดดันให้ย้ายสถานที่จัด จากเดิมเป็นวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น มาเป็น หอประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก อย่างไรก็ตามมีประชาชน นิสิต-นักศึกษา ร่วมงานอย่างคับคั่ง



ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เห็นด้วยต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันทุกคนก็ทราบว่าพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ค่อยได้ คนใช้จ่ายก็ลำบาก เป็นปัจจัยจากทั้งภายนอกและภายใน พอยักษ์ใหญ่ทะเลาะกันการค้าก็น้อยลง เมื่อขายได้น้อยลง เงินเข้าประเทศก็น้อยลง แต่ปัจจัยที่ใหญ่กว่าคือปัจจัยภายในประเทศ จากประสบการณ์ของตน ในขณะที่เข้ามาทำหน้าที่ตอนนั้น เศรษฐกิจรุมเร้าไปด้วยปัญหา ทั้งเรื่องจีดีพีหดตัว ส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนชะงัก ราคาพืชผลต่ำ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาสิบปีแล้ว และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดิจิทัลไม่เอื้ออำนวย ในสภาวะแบบนี้ไทยไม่มีทางเจริญได้ พอตนเห็นแผล 4-5 เรื่องนี้แล้วจึงตั้งเรื่องที่จะแก้ไข แต่ต้องบอกว่า คสช.ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจริง ถ้าตั้งใจแก้ปัญหาจริงทำเสร็จตั้งแต่ปีแรกแล้ว แค่ทำในสิ่งที่ตนใส่พานให้ และตนบอกได้เลยว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปอีกทุกรัฐบาล

"เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำนาจ หากได้คนเก่งกล้าเป็นผู้นำก็พอไหว แต่นี่ไม่เก่งและไม่กล้าเลยด้วย ความเคยตัวของอำนาจทหารทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ทำให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถบริหารงานได้ต่อเนื่อง เศรษฐกิจถึงจะไปได้ แต่ก็มีจุดอ่อน ที่ทำให้จำเป็นต้องเติมกลไกลงไปสองกลไก 1.คือกลไกที่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีบทบาทที่จะคอยขัดขวางรัฐบาลเสียงข้างมากจากการครอบงำองค์กรอิสระ ต้องคิดกันละเอียด ให้ประชาชนมีบทบาทช่วยกันป้องกันหรือเรียกร้องให้เป็นที่รับฟัง ว่าท่านกำลังจะไปครอบงำ ทำให้เกิดความละอายขึ้น และ 2.รัฐธรรมนูญต้องเติมในส่วนที่จะให้ประชาคมมีบทบาทที่แท้จริงในการมีชีวิตที่ดี ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี รัฐธรรมนูญมีผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาคมมากกว่าเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ต้องหาช่องให้ประชาคมมีบทบาท มีสิทธิมีเสียงให้มากขึ้น"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ตอนนี้ควรใช้คำว่าเศรษฐกิจชะลอตัวและช้ากว่าที่เคยเป็น สัดส่วนที่มากที่สุดภายในประเทศ คือ อัตราการบริโภค รองลงมาเป็นการลงทุน และส่วนของการใช้จ่ายจากภาครัฐนั้นน้อยที่สุด เหตุที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้เกิดการชะลอตัว เกิดจากสงครามการค้า แต่ยังไม่เท่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่ามาก แต่เศรษฐกิจไทย ณ ตอนนี้ ยังไม่ถือว่าถดถอย ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เพียงแค่เติบโตช้าลง แต่ทั้งนี้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าประเทศแถบอาเซียนทั้งหมด ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพียง 3.4 เปอร์เซนต์ แต่ประเทศในแถบอาเซียนเติบโตมากกว่า 5 เปอร์เซนต์เป็นต้นไป โดยประเทศมาเลเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด สาเหตุที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตช้านั้น เกิดจากความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤต คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเกิดขึ้นอย่างล่าช้า ในส่วนต่อมาคือบริษัทขนาดเล็กถึงกลางยังไม่มีความเติบโตที่เท่าทันโลก ต่างจากบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีการจับมือกับนานาประเทศแล้ว 

"ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจของไทย คือความเหลื่อมล้ำของธุรกิจขนาดต่างๆ ผมคิดว่าสโลแกนของพรรคอนาคตใหม่ที่ว่า คนเท่าทียม ไทยเท่าทันโลก นั้นมีความเหมาะสมกับยุคสมัยนี้มาก หากเราอยากให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยเข้มแข็งต้องแก้ที่ 1.ต้องเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสินค้าทางการเกษตร 2.กลุ่มแรงงาน คนไทยต้องทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ ค่าแรงเหมาะสมกับค่าครองชีพ 3.เศรษฐกิจ หรือ ธุรกิจ ขนาดย่อม ต้องไม่ถูกธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ อย่างไรก็ตาม หากเราเปิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรื่องนโยบายของรัฐ ก็จะเจอกับเรื่องของเศรษฐกิจ ตนคิดว่าที่น่าจะมีปัญหาคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น กฎหมายข้อบังคับ ปัญหาอำนาจการรวมศูนย์ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจฐานไม่มีความเข็มแข็ง และการที่รัฐบาลเปลี่ยนบ่อยจะนำมาซึ่งการบริหารราชการไม่มีเสถียรภาพ ด้านแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ตนคิดว่าหากมองดูดีๆ ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับการพัฒนาประเทศ เพียงแต่บางนโยบายเขียนโดยกว้างเกินไป และแผนยุทธศาสตร์ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับการเมือง และสุดท้าย ตนคิดว่าไม่ควรนำมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพราะจะทำให้เห็นว่ารัฐราชการรู้ดีที่สุด ณ เวลานี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครรู้ดีว่าปัญหาทุกปัญหาจะมีทางออกเพียงทางออกเดียว"ดร.สมเกียรติ กล่าว




รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นระบบย่อยหนึ่งในสังคม แต่มีความสำคัญเพราะเป็นกระดูกสันหลังในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม คือสิ่งกำหนดว่าใครจะได้ทรัพยากรหรือใครจะเข้าถึงได้ สำหรับในเรื่องเศรษฐกิจหากมองในมุมทางสังคมผ่านงานวิจัย ของ สกว. เรื่องตลาดสด ที่สอบถามพ่อค้าแม่ค้าใน 4 จังหวัดภาคอีสาน พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์บอกว่าเศรษฐกิจแย่ และเมื่อถามว่าหากเทียบกับที่เคยเป็นเศรษฐกิจถอยไปแค่ไหน เขาบอกว่าหากเดิมเคยขายได้ 1,000 บาทต่อวัน ก็เหลือเพียง 200 บาทต่อวัน แต่ที่ตัดสินใจขายต่อไปเพราะต้องการรักษาฐานลูกค้า จ้างงานให้ตัวเอง และรอรอบเศรษฐกิจทีดีกลับมา และถ้าถามต่อว่าเพราะอะไรจึงแย่ เขาบอกว่าเพราะราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี ถ้าขยับไปที่ชาวนาซึ่งเป็นภาพของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็พบว่ามีการปรับตัว ชาวนาเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง แม้กระทั่งเทคโนโลยี ที่แม้ว่าต่อไปมีหุ่นยนต์เข้ามาเขาก็ปรับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือเศรษฐกิจของเขาได้รับผลกระทบ และเศรษฐกิจที่ไม่ดีได้สร้างระบบสภาพแวดล้อมทางสังคมอีกแบบ วัยรุ่นที่ไม่มีงานทำก็ไปรวมตัวกันตามงานหมอลำต่างๆ การแสดงออกถึงความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นก็เกิดขึ้นตามมา ซึ่งในอดีตที่เคยมีความรุนแรงแบบนี้ก็คือช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี 

“ถามว่าเรื่องพวกนี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐธรรมนูญได้สร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาอย่างหนึ่ง ถ้าพูดให้สั้นและง่ายสุดคือการสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้เท่านั้น ความจริงแล้วมันคือการสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรัฐที่เน้นศูนย์กลางเป็นหลัก แน่นอนว่าการรวมศูนย์ในส่วนกลางมีความสำคัญเป็นบางด้าน แต่จะรวมทุกอย่างไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางจึงทำให้การจัดสรรอำนาจบกพร่อง และทำให้เศรษฐกิจกระจุก มันจึงมีความสำคัญที่เราต้องตระหนักในเรื่องนี้” รศ.ดร. บัวพัน กล่าว


นายธนาธร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เกี่ยวกับความยากจน เกี่ยวกับเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และปัญหาของปากท้องไม่ได้เกิดจากวันนี้ หรือเมื่อวาน แต่เกิดจากการจัดสรรทรัพยาการอย่างไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบ การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้กับคนรวย คนมีอำนาจมานานนับทศวรรษ ปัญหาปากท้องวันนี้ไม่ใช่เรื่องบุญกรรม หนี้สินที่สั่งสมมาไม่ใช่เรื่องโชคชะตา แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกทับถมมานาน ยกตัวอย่างเหตุการน้ำท่วม จ.ยโสธร รัฐต้องใช้งบเยียวยากว่า 600 ล้านบาท แต่นี่คือ 600 ล้านที่ควรนำมาลงทุนกับระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เช่น ขุดหนองบึง สร้างพนังกั้นน้ำคอนกรีตแข็งแรง เป็นต้น แต่เนื่องจากการจัดการน้ำไม่สามารถทำได้จังหวัดเดียว น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จะจัดการต้องทำทั้งลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มแม่น้ำชีจะต้องจัดการทั้งสิ้น 9 จังหวัด ซึ่งใช้งบทั้งหมด 5,400 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับงบประมาณที่ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูในกรุงเทพฯ ที่ได้งบประมาณมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นเพียง 1 ใน 10 ของงบประมาณนั้น แต่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องทั้ง 9 จังหวัดได้ ซึ่งงบประมาณ 5,400 ไม่ได้มากนักหากเทียบกับงบการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสร้างเขื่อนกั้นน้ำหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ประกอบการอยู่ใน 6 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อปกป้องจากภัยน้ำท่วมด้วยงบประมาน 3,236 ล้านบาท และเมื่อสร้างแล้วแน่นอนว่าเมื่อน้ำมาก็อาจจะท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ นี่เป็นเป็นตัวอย่างการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวของปัญหาปากท้องประชาชน

"เรายังมีปัญหาปากท้องของประชาชนในมิติอื่นๆ อีกมาก และปัญหาปากท้องนั้นไม่สาหัสเท่านี้ หากโรงพยาบาลมีคุณภาพมากกว่านี้ ต้นทุนการรักษาก็จะลดลง ไม่มีใครต้องขายนาไปรักษาผู้สูงอายุ ปัญหาปากท้องย่อมไม่เลวร้ายเท่านี้ หากการบริการขนส่งสาธารณะถูกและมีคุณภาพ ประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องมีภาระไปซื้อรถ แบกค่าผ่อนรถ บำรุงรักษา และค่าน้ำมัน ถ้าเสียงของประชาชนดังพอ ถ้าเสียงของประชาชนมีอำนาจ ถ้าเสียงของประชาชนมีความหมาย งบประมาณการจัดการทั้งลุ่มแม่น้ำชี จะต้องได้รับการถกเถียง ต้องได้รับการพิจารณาอย่างลึกซึ้งมากกว่านี้ ถ้าอำนาจเป็นของประชาชนและมาจากประชาชน การจัดสรรงบประมาณก็ย่อมตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน" ธนาธร กล่าว


นายธนาธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ นายกรัฐมนตรี 29 คน โดยใน 87 ปีที่ผ่านมามีการทำรัฐประหารทุกๆ 6 ปี เปลี่ยนรัฐธรรมนูญทุกๆ 4 ปี เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีทุกๆ 2.9 ปี มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น 10,036 วัน จาก 31,385 วันนับตั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งคิดเป็น 31.5 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ มีปราชญ์กล่าวว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายก็รับใช้คนชั้นนั้น และรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกเขียนขึ้นมาโดยกลุ่มคนไม่กี่คน วัตถุประสงค์ไม่ได้เกิดจากความคิดว่าสังคมแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน หรือประเทศไทยแบบไหนที่อยากให้เป็น แต่มาจากความคิดว่าเราจะสืบทอดอำนาจอย่างไร ดังนี้ จึงออกแบบมาเพื่อที่จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมโดยกฎหมาย อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนมีค่ามากกว่าอำนาจที่มาจากประชาชนคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติมีอำนาจเหนือรัฐบาล และประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ในรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ รัฐบาลย่อมคำนึงถึงการอยู่รอดทางการเมืองมากกว่าการสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง


นายธนาธร กล่าวว่า เมื่ออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือคนไม่กี่คนอย่างที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดอกผลของการพัฒนาประเทศก็จะกระจายตัวไปอยู่ในมือคนไม่กี่คนเช่นกัน และจะไม่มีทางแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาวได้เลยหาก รัฐธรรมนูญยังไม่ได้เขียนโดยประชาชน มาจากประชาชนและเพื่อประชาชน และตนขอยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับแก้ปัญหาปากท้อง สามารถทำไปพร้อมๆกันได้ การหลอกลวงประชาชนให้เชื่อว่าจำเป็นต้องเลือกระหว่างแก้รับธรรมนูญกับแก้ปัญหาปากท้อง เป็นความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นของผู้ได้รับผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอยืนยันอีกครั้ง ว่ามีแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน และอย่างเป็นธรรมได้ เมื่ออำนาจเป็นของประชาชน ทรัพยากรก็จะถูกใช้ไปเพื่อประชาชน กฎหมายที่เชื่อในพลังของมนุษย์เท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองออกมาได้