"สุดารัตน์" แนะรัฐบาลลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ ช่วยชาวบ้านหลังน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค, นายการุณ โหสกุล ส.ส. กรุงเทพมหานคร เดินทางมาเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วัดสุวรรณนิคคลี่ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพที่ได้รับบริจาคมาจากประชาชนในเขตพื้นที่ของ ส.ส. ในเขตต่างๆ ในโครงการ ‘เพื่อไทย ช่วยไทย รวมใจช่วยน้ำท่วม’ ชให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมที่อยู่อาศัยมาพักอยู่ที่วัดนี้กว่าพันคน และพื้นที่ไร่นาได้รับผลกระทบกว่า 14,000 ไร่ โดยมี ส.ส. ในพื้นที่มาสมทบ ได้แก่ นางบุญรื่น ศรีธเรศ, นายวีระวัฒน์ โอสถานุเคราะห์, นายคมเดช ไชยศิวามงคล, นายพีระเพชร ศิริกุล, นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส. กาฬสินธุ์, และนางมุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส. ขอนแก่น
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เราเป็นฝ่ายค้านเราทำงานเต็มที่ แต่เราเสียดายถ้าเป็นรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้พี่น้องประชาชนลำบากอยู่อย่างนี้ อีกทั้งสินค้าการเกษตรราคาถูก ชาวบ้านขายข้าวเปลือกราคาถูก แต่ต้องซื้อข้าวสารกินในราคแพง ความทุกข์ของพี่น้องคือความทุกข์ของเรา เราจะไม่ทิ้งกัน ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ พร้อมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ทุ่มเทแรงกายใจ และอาสาสมัครทุกคนที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
หลังจากมอบถุงยังชีพที่ประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตแล้ว ชาวบ้านก็ได้มอบผักกระเฉดชะลูดน้ำใฟ้กับคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งเป็นที่จะเจริญงอกงามในช่วงน้ำท่วม
จากนั้นเดินทางมาที่วัดสว่างเหล่าอ้อย ต.เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ตรวจเยี่ยมที่นากว่า 7,000 ไร่ที่ถูกน้ำท่วม และมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่กว่าห้าร้อยคน และร่วมรับประทานอาหารเย็นกับชาวบ้าน
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปัญหาหลักๆ คือการจัดการน้ำท่วม เนื่องจากบางพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ น้ำจะท่วมขังนาน 2-3 เดือน ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น ชาวบ้านต้องการสิ่งของอุปโภคบริโภค ส่วนการช่วยเหลือหลังน้ำลด ชาวบ้านเป็นห่วงว่าจะได้รับเงินชดเชย และพันธุ์ข้าวหรือไม่ ทางพรรคเพื่อไทยเคยเรียกร้องไปแล้วว่าให้มีการจ่ายค่าชดเชย ดูแลความทุกข์ของประชาชนรวมกันตั้งแต่ภัยแล้งจนถึงน้ำท่วม และจ่ายเงินให้เร็วที่สุดภายในเดือนหน้า เพื่อให้เกษตรกรมีเงินเตรียมปลูกข้าวนาปรัง หากยังพอได้ หรือพืชผลอื่นๆ และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องปากท้อง เนื่องจากที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรขาดรายได้ ประกอบกับภัยธรรมชาติที่เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนแล้วก็ไม่ได้กำไรกลับคืนมา อีกทั้งสินค้าและอาหารก็ราคาแพงมาก รวมทั้งข้าวด้วย ดังนั้นยิ่งรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเร็วก็จะทำให้เกิดการใช้จ่าย เงินหมุนเวียนในตลาด และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว ข้อเรียกร้องประการต่อมาคืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยให้ชาวบ้านทำมาหากินต่อไปได้ และข้อเรียกร้องข้อที่ 3 คือ อยากให้รัฐบาลหาแนวทางในการลดค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากรายได้น้อย แต่สินค้าแพง เช่น ก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีน้ำมันดีเซล แต่รัฐบาลชุดนี้เก็บภาษีประมาณ 5.80 บาท หากลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตและขนส่งหลายอย่าง ดังนั้นหากลดภาษีก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิต และสามารถควบคุมราคาสินค้าให้ลดลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลง