แบ่งเก้าอี้ประธาน กมธ.ลงตัว 10 พรรคเล็กแห้ว

2019-09-06 14:05:37

แบ่งเก้าอี้ประธาน กมธ.ลงตัว 10 พรรคเล็กแห้ว

Advertisement

“ชวน” นั่งหัวโต๊ะถกแบ่งเก้าอี้ ปธ.กมธ. 35 คณะ ด้าน 10 พรรคเล็กขอแจม 1 คณะแต่ส่อแห้วเหตุ รธน.ไม่รับรองการรวมกลุ่มพรรคเพื่อคำนวณเก้าอี้ ปธ.กมธ. ฝ่าย พท.ยังรอคุย “เสรีรวมไทย” 1 คณะ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ก.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนของพรรคการเมือง 26 พรรค ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน และตัวแทนวิปรัฐบาล เพื่อพิจารณาการจัดสรรโควต้าตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 35 คณะ

นายชวน กล่าวว่า ตัวแทนของ ส.ส. 10 พรรคเล็ก อาทิ พรรคไทยศิวิไลย์ พรรคพลเมืองไทย และพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งรวมเป็นกลุ่มการเมือง และมีส.ส.จำนวน 10 คนนั้น ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาจัดสรรโควต้าประธานกรรมาธิการฯ จำนวน 1 คณะให้กับ ส.ส.กลุ่มดังกล่าว เพราะมีจำนวน ส.ส.เข้าเกณฑ์พิจารณา

ด้านนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ตัวแทนพรรคพลเมืองไทย ได้สอบถามถึงสัดส่วนของการจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ ตามที่มีเอกสารปรากฎในห้องประชุมว่าเป็นข้อยุติแล้วใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายชวนได้มอบหมายให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงรายละเอียด แต่โดยช่วงของการชี้แจงนั้นไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรับฟังด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัดส่วนตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ที่แต่ละพรรคจะได้รับนั้น ตามการคำนวณของคณะทำงานดำเนินการรองรับภารกิจการแต่งตั้งกรรมาธิการ ระบุว่า จะมี 8 พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรโควต้า ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 10 คณะ พรรคพลังประชารัฐ 8 คณะ พรรคอนาคตใหม่ 6 คณะ พรรคประชาธิปัตย์ 4 คณะ พรรคภูมิใจไทย 4 คณะ พรรคเสรีรวมไทย 1 คณะ พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ และพรรคประชาชาติ 1 คณะ ขณะที่การเรียกร้องตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ของกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็กนั้น ในข้อสังเกตของคณะทำงานระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติที่ระบุถึงการรวมกลุ่มของกลุ่มการเมือง ดังนั้นการคำนวนจำนวนประธานกรรมาธิการฯ ที่พึงมีของแต่ละพรรคต้องยึดตามรัฐธรรมนญ มาตรา 128 วรรค 8 ที่ไม่นำการรวมกลุ่มพรรคการเมืองมาคำนวณเพื่อหาจำนวนตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ

จากนั้นนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ แถลงผลการประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง 26 พรรค เพื่อพิจารณาการจัดสรรโควต้าตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 35 คณะว่า การพิจารณาเป็นไปอย่างเรียบร้อยและแล้วเสร็จเร็วกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ มีความลงตัวและได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติ จากนี้จะเป็นขั้นตอนที่พรรคการเมืองจะตกลงเพื่อกำหนดตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ และกำหนดส.ส.ให้อยู่ในตำแหน่งกรรมาธิการฯ ของคณะใดบ้าง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 11 ก.ย.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ขณะที่ข้อเรียกร้องของกลุ่ม 10 พรรคเล็กนั้น ไม่สามารถจัดสรรโควต้าประธานกรรมาธิการฯ ให้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติรองรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโควต้าประธานกรรมาธิการฯ ที่แต่ละพรรคได้รับที่มีข้อยุติแล้ว ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 8 คณะ ได้แก่ 1.กรรมาธิการการตำรวจ 2.กรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคมและดิจิตอลเศรษฐกิจ 3.กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน 4.กรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร 5.กรรมาธิการการทหาร 6.กรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 7.กรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามฟอกเงินและยาเสพติด และ 8.กรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.กรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา 2.กรามาธิการการเกษตรและสหกรณ์ 3.กรรมาธิการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ และ 4.กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม พรรคภูมิใจไทย จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.กรรมาธิการการคมนาคม 2.กรรมาธิการการท่องเที่ยว 3.กรรมาธิการการกีฬา และ 4.กรนมาธิการการสาธารณสุข พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 1 คณะ ได้แก่ กรรมาธิการการส่งเสริมแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลการเกษตร

พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ 1.กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ 3.กรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 4.กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 5.กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และ6.กรรมาธิการแรงงาน พรรคประชาชาติ จำนวน 1 คณะ ได้แก่ กรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการปกครองรูปแบบพิเศษ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คณะนั้น มีความชัดเจน เพียง 9 คณะคือ 1.กรรมาธิการการพลังงาน 2.กรรมาธิการการศึกษา 3.กรรมาธิการการศึกษา จัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ 4.กรรมาธิการการต่างประเทศ 5.กรรมาธิการกิจการองค์กรศาล รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 6.กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ 7.กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค 8.กรรมาธิการการอุตสาหกรรม และ 9.กรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เนื่องจากอีก 1 คณะ ต้องรอหารือกับพรรคเสรีรวมไทย ที่ได้รับโควต้า 1 คณะว่าจะจัดสรรคณะใดให้กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระหว่างกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือกรรมาธิการการปกครอง