“อย. -สปสช.”เชื่อมโยงข้อมูล รพ.สั่งจ่ายกัญชา

2019-09-04 13:25:49

“อย. -สปสช.”เชื่อมโยงข้อมูล รพ.สั่งจ่ายกัญชา

Advertisement

“อย. -สปสช.” ลงนามความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูล รพ.สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์และยาควบคุมอื่น

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตามที่ได้เปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) แก่ผู้ป่วย ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เช่น สถานพยาบาลต่าง ๆ ต้องจัดทำบัญชีรับ - จ่าย จำแนกตามชนิดของผลิตภัณฑ์พร้อมระบุรายละเอียดของแพทย์ผู้สั่งจ่าย ข้อมูลผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงรายงานการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยจากการใช้ยาในผู้ป่วยทุกราย โดยจะต้องจัดทำเป็นรายงานเป็นรายเดือนและรายปี ในรูปแบบของ SAS monitoring program (intensive monitoring) ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบเดิมเป็นระบบสารสนเทศเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์และยาควบคุมอื่น


เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต ซึ่งในปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ ยังมีการแยกการจัดเก็บในแต่ละหน่วยงาน โดยขาดการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งผลให้ข้อมูลเกิดความซ้ำซ้อน เช่น ข้อมูลประวัติผู้ป่วย ประวัติการรักษาโรค ข้อมูลการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว จะช่วยลดภาระหน่วยบริการในการนำเข้าข้อมูลผ่านระบบเพื่อจัดทำรายงาน ลดภาระหน่วยงานภาครัฐในการจัดเก็บข้อมูล ลดอัตราเสี่ยง ในการเบิกยาซ้ำซ้อนในผู้ป่วยรายเดียว และส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลมากพอที่จะประมวลผล วิเคราะห์ความปลอดภัยจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ ยาควบคุมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีระบบสารสนเทศเพื่อการจ่ายชดเชยยารายบุคคล เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพบันทึกข้อมูลการสั่งใช้ยาให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง อย. ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดทำบัญชีรับจ่าย และรายงานที่เกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์และยาควบคุมอื่น ทำให้ระบบข้อมูลสาธารณสุขมีความทันสมัย มีเสถียรภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญเหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับอนุญาต นำเข้าข้อมูลผ่านระบบ เพื่อจัดทำรายงานตามกฎหมาย ในรูปแบบ Single Sign On ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลมากพอที่จะประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลการใช้และความปลอดภัยจากการใช้กัญชาทางการแพทย์และยาควบคุมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาล (e-government) ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ยุคดิจิทัล สามารถเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลสุขภาพด้านสาธารณสุขเพื่อความเป็นเลิศ