“ศรีสุวรรณ”ร้อง กกต. ส่งศาล รธน.วินิจฉัยสถานะ “ไพบูลย์” (คลิป)

2019-09-04 13:05:21

“ศรีสุวรรณ”ร้อง กกต. ส่งศาล รธน.วินิจฉัยสถานะ “ไพบูลย์” (คลิป)

Advertisement

“ศรีสุวรรณ”บุกร้อง กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ “ไพบูลย์” ขาดจากความเป็น ส.ส. หรือไม่


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องให้ กกต. ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสถานภาพความเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่ายังคงมีสถานะเป็น ส.ส. อยู่อีกหรือไม่


นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้ยื่นเรื่องขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคต่อ กกต. ต่อมาในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2562 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพพรรคการเมืองไปแล้วนั้น การเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปแม้จะเป็นไปตามข้อบังคับของพรรค ข้อ 122 แล้วประกอบ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ม.90(1) และ ม.92 (7) แต่เนื่องจากสถานะของนายไพบูลย์ ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งเดียวของพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมาเพียงประมาณ 4.5 หมื่นคะแนน ซึ่งถือได้ว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยพึงมีพึงได้รับเลือกตั้งของพรรคการเมืองตาม ม. 91 และ ม.93 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ ม.128 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 ที่มีเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 7.1 หมื่นคะแนน ซึ่งหากจะไปสมัครอยู่พรรคการเมืองอื่นพร้อมกับตำแหน่ง ส.ส.ด้วยนั้น อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพรรคต่าง ๆ ก็ล้วนมีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้นๆอยู่แล้ว และคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นคะแนนรวมของพรรคไม่ใช่ของนายไพบูลย์ที่เป็นปัจเจกจึงไม่อาจโอนไปที่ไหน ๆ ได้ ซึ่งต้องสิ้นสุดไปตามการเลิกพรรคการเมือง และต้องทำให้การคิดคะแนนเฉลี่ยของพรรคการเมืองทั้งหมดเปลี่ยนไปด้วย หรืออาจเปลี่ยนไปตามกรอบระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.94 ประกอบ ม.131 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2561 ซึ่งสมาคมสงสัยว่าสมาชิกสภาพของคุณไพบูลย์น่าจะสิ้นสุดลงตามมาตรา 101(4) แล้วหรือไม่


นายไพบูลย์ ระบุด้วยว่า ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องต่อ กกต. ให้ส่งประเด็นปัญหาดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์เช่นนี้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ อย่างไร เพื่อมิให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นโมเดลการยุบเลิกพรรคการเมืองอื่น ๆ ในอนาคตที่อาจลอกเลียนแบบกันได้ อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองไปทำงานตามนโยบายที่หาเสียง ไม่ใช่เลือกไปให้ไปยุบเลิกพรรคเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยไม่เห็นหัวประชาชน