“ศศิน”ตั้งโจทย์ถาม 3 ข้อสร้างกระเช้าภูกระดึง

2019-09-04 10:55:30

“ศศิน”ตั้งโจทย์ถาม 3 ข้อสร้างกระเช้าภูกระดึง

Advertisement

“อาจารย์ศศิน”ชี้การสร้างกระเช้าภูกระดึงคาดมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น คนที่ขึ้นไม่ไหว มีข้อจำกัดก็มีโอกาสขึ้นไปได้ ตั้งโจทย์ถาม 3 ข้อ จะเลิกฟังก์ชั่นการเดินซึมซับธรรมชาติ พร้อมปล่อยให้ที่สวยๆข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่ และพร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นธรรมชาติ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบใช้หรือไม่

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ศศิน เฉลิมลาภ”ระบุว่าวันนี้ผมจะมีประชุมทั้งวัน คงไม่สามารถให้ความคิดความเห็นเรื่องภูกระดึงออกสื่อต่างๆได้ ขอให้ความเห็นที่เคยเขียนไว้เป็นเบื้องต้นก่อนด้งนี้นะครับ ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์หลายประการ ประการแรกคือ ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบ ๆภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึง จะคึกคักทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่าง ๆในการขยายกิจการเพื่อรับการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากใช้สองเท้าเดิน ประการที่สองคือ ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ และร่างกายอื่นๆมีโอกาสขึ้นไปได้ และกระเช้าไฟฟ้าอาจจะช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ และขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปง่ายขึ้น นี่เป็นเหตุผลง่ายๆไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น

นายศศิน ระบุต่อว่า แต่การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ ไม่มีใครคิดจะตอบ สามข้อ สามระดับ ระดับที่1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วก็มีที่สวยๆ ให้ไปเดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้น และเดินเที่ยว สิ่งต่างๆที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ความซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติ และมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในประเทศไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ ก็มีถนนขึ้นถึง หรือ เดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก ดังนั้นเมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามาย่อมสู้ความสบายเย้ายวนของการขึ้นกระเช้าไม่ได้ มีคนเดินขึ้นก็คงมีน้อยกว่าน้อย พวกที่จะเลือกเดินก็เป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ขึ้นไปก็เหมือนขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาก็ไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่าห้าสิบปี ตั้งแต่รุ่นปู่ จนถึงปัจจุบัน การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชั่นนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าเรื่องนี้หรือไม่

นายศศิน ระบุด้วยว่า ระดับที่2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้ายังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวยๆข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่ ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปมากๆ จริงๆ แล้ว เราพร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นธรรมชาติ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็น เมืองท่องเที่ยวข้างบนไปเลยในอนาคต ไปเลยไหม หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกอุทยานไปเลยนี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : ศศิน เฉลิมลาภ