“ปิยบุตร” จ่อยื่นศาล รธน.ยกเลิกคำสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. “ธนาธร”

2019-08-30 18:50:08

“ปิยบุตร” จ่อยื่นศาล รธน.ยกเลิกคำสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. “ธนาธร”

Advertisement

"ปิยบุตร" เล็งยื่นหนังสือต่อศาล รธน. ขอยกเลิกคำสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.ชั่วคราวของ "ธนาธร"

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงความคืบหน้ากรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท วีลัก-มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดย นายปิยบุตร กล่าวว่า ตามที่มีจดหมายข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเมื่อ 27 ส.ค. ระบุว่าได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคราวประชุมถัดไปนั้น โดยก่อนหน้านี้ 13 ส.ค. มีสำนักข่าวแห่งหนึ่งและแห่งเดียวที่รายงานข่าวว่า วันที่ 27 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดวางกรอบไต่สวน โดยขอตั้งข้อสังเกตุว่า 1.สำนักข่าวแห่งนี้ทราบได้อย่างไรว่าจะมีการนัดพิจารณาในวันที่ 27 ส.ค. ในขณะที่ตัวนายธนาธรเองก็ยังไม่ทราบ 2.สำนักข่าวแห่งนี้ทราบอีกว่า มีรายการพยานบุคคลบางอย่างที่นายธนาธรยื่นไป ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสำนวนที่อยู่ในการพิจารณา สำนักข่าวแห่งนี้ทราบได้อย่างไร ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกจดหมายข่าวมา และผลการพิจารณาคือ "ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในคราวประชุมถัดไป" จึงน่าสนใจว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะอภิปรายเรื่องวางกรอบการไต่สวนตามกระบวนการที่พึงดำเนินไป เหตุใดจึงต้อง "อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย" ถึงสองนัดประชุม หรือนี่คือการประชุมวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีกันแน่ นี่คือสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งคำถาม

"ขั้นตอนตามพระราชบัญญัติประกอบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดเอาไว้ว่า เมื่อผู้ร้องมีคำร้องมา ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจง แล้วกลับมาที่ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน แต่ละฝ่ายก็จะมีเอกสาร พยานหลักฐาน มีการชี้แจงของตนเอง เสร็จแล้วตามกระบวนการ ศาลจะนัดวันตรวจพยานหลักฐาน จากนั้นจะมีการเปิดศาลเพื่อกำหนดวันไต่สวน แล้วก็จะนำไปสู่การวินิจฉัยคดี แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ นายธนาธรยังไม่ทราบว่าศาลจะการอนุญาตให้มีการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งหากพูดถึงคดีของนายธนาธร เราก็จะเปรียบเทียบกับคดีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย เนื่องจากคดีของคุณดอน ใช้เวลานานมากตั้งแต่ชั้น กกต. ไปจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ และคดีของนายดอน ก็ได้โอกาสที่ศาลจะบอกว่าไม่ต้องยุติกาปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี และยังได้โอกาสในการไต่สวนอีกด้วย แต่ในกรณีของคุณธนาธร สถานะถึงตอนี้เรายังไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยอมให้มีการไต่สวนหรือไม่ หรือว่าศาลกำลังปรึกษาหารือเพื่อจะมีคำวินิจฉัยแล้ว กฎหมายในมาตรา 58 เขียนข้อยกเว้นไว้ว่า ในกรณีที่เป็นประเด็นข้อกฎหมายอย่างเดียว ศาลอาจไม่ไต่สวนก็ได้ หรือในกรณีที่ศาลอาจเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว อาจไม่ไต่สวนก็ได้ แต่สำหรับข้อพิพาทคดีนี้ สาระสำคัญไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และประเด็นข้อเท็จจริงที่นายธนาธรสู้ไปนั้นเยอะมาก หลายประเด็น แต่ทางด้าน กกต. มิได้ตอบอะไรกลับมา ตอบเพียงแต่ประเด็นข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จะบอกว่าคดีนี้มีแต่ข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้" นายปิยบุตร กล่าว


นายปิยบุตร กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่อยากจะเรียกร้อง ณ เวลานี้เราไม่รู้จริงๆว่า สถานะคดีนี้อยู่ตรงไหน สถานะคดีนี้ยุติไปแล้วใช่หรือไม่ว่าไม่มีการไต่สวน ในเวลานี้ศาลกำลังประชุมเพื่อวินิจฉัย หรือศาลกำลังพิจารณาว่าจะให้ไต่สวนหรือไม่อย่างไร พรรคอนาคตใหม่มีความคาดหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีของนายธนาธร ให้มีมาตราฐานดำเนินกระบวนพิจารณาเดียวกันกับคดีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย สุดท้ายเราจะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอยกเลิกคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส. ชั่วคราวของนายธนาธร ด้วย

นายปิยบุตร กล่าวอีกประเด็น กรณีมีบุคคลจำนวนหนึ่งถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องของการละเมิดอำนาจ โดยระบุว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศรับรองเอาไว้ว่า ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แสดงออกผ่านในมาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และในมาตรา 3 เขียนเอาไว้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้น เจ้าของอำนาจคือประชาชน ส่วนผู้ใช้อำนาจคือพระมหากษัตริย์ จะใช้ผ่านรัฐสภา ผ่านรัฐมนตรี ผ่านศาล การที่ประชาชนคนทั่วไปวิพากษ์ วิจารณ์องค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น จึงเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เจ้าของอำนาจวิจารณ์องค์กรผู้ใช้อำอาจ สามารถทำได้ ดังนั้น โดยทั่วไปเราจะเห็นว่าประชาชนสามารถวิจารณ์นักการเมือง วิจารณ์ ส.ส. วิจารณ์รัฐบาล และเช่นเดียวกันก็สามารถวิจารณ์ศาลได้ ทั้งนี้ เรามีกฎหมาย 2 เรื่องที่ปกป้องคุ้มกันศาลเช่นเดียวกัน 1.ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเขียนไว้อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่มาตรา 30 ถึง 33 เจตนารมณ์ ใช้เมื่อเวลามีใครมาขัดขวางการพิจารณาของศาล ปิดล้อมศาลหรือมาชุมนุมกันที่ศาล นี่คือเจตนาของการนำเรื่องละเมิดศาลมาใช้ และ 2.ดูหมิ่นศาล อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 คือ ดูหมิ่นตัวบุลคลตุลาการ หรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาคดีหรือการขัดขวางในการพิจารณาคดี ในการปฎิบัติหน้าที่ วิธีการใช้คือการแจ้งความต่อตำรวจ และไปดำเนินคดีกันในศาล


"ในส่วนมาตรา 38 วรรค 3 เขียนไว้ว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลนั้น หากทำโดยสุจริต ทำโดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตร้าย สิ่งเหล่านี้ไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล โดยธรรมชาติการวิจารณ์คำวินิจฉัย ถือว่าไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล ตนตั้งข้อสังเกตว่า จะวิจารณ์อย่างไรถึงจะไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลเนื่องจากผู้เขียนกฎหมายฉบับนี้ มีขอบเขตการใช้อำนาจศาลกว้างจนเกินไป ทั้งนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่อาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ถูกเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรียกตัวไป สถานะทางกฎหมายคืออะไร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อไหน เรียกบุคคลไปชี้แจง ศาลเป็นองค์กรตุลาการเคียงคู่ไปกับรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ทั้ง 3 องค์กรนี้เท่าเทียมกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ และเมื่อใช้อำนาจอธิปไตยก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจได้ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ สุดท้ายสังคมจะมองว่าศาลเป็นองค์กรที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เลยหรือเปล่า เพราะประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งหากวิพากษ์วิจารณ์แล้วจะโดนคดีหรือไม่" นายปิยบุตร กล่าว