“สมชัย”จี้ กกต.เคลียร์ปม “ไพบูลย์” ยื่นยุบพรรคตัวเอง

2019-08-23 16:35:16

 “สมชัย”จี้ กกต.เคลียร์ปม “ไพบูลย์” ยื่นยุบพรรคตัวเอง

Advertisement

“สมชัย” จี้ กกต. เคลียร์ปัญหากรณี “ไพบูลย์” ยื่นยุบพรรคตัวเอง หวั่นพรรคใหญ่ใช้เกมนี้ดึงพรรคเล็กเข้าสังกัด เชื่อจบที่ศาล รธน.

เมื่อเวลา 11.00น. วันที่ 23 ส.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นยุบพรรคต่อ กกต. ว่า กรณีการยุบพรรคมี 2 กรณี คือ ยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และ ตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เห็นว่าไม่สามารถบริหารจัดการภายในพรรค เช่น มีหนี้สิน และไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ จึงได้ยื่นยุบต่อ กกต. ซึ่งเมื่อพรรคถูกยุบพรรคแล้ว ส.ส.ยังมีสถานะความเป็น ส.ส.อยู่ โดยจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน แต่จะมีปัญหากรณีที่ ส.ส. เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมาจากคะแนนรวมทุกเขตของทั้งประเทศ ที่ถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี ดังนั้นคำถามคือ ส.ส.ดังกล่าวจะไปอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าใดของพรรคการเมืองใหม่ที่ไปสังกัด เพราะจะมีปัญหาหากมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น ที่จะต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ในกรณี จ.เชียงใหม่เขต 8 เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่า เกิดการปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพราะเมื่อคำนวณคะแนนใหม่ทั้งประเทศ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 คน แต่พรรคที่ ส.ส.หายไปคือพรรคไทรักธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าแม้คะแนนเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสามารถสร้างผลกระทบได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าหากยุบพรรคของนายไพบูลย์แล้ว จะต้องนำคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปกว่า 45,000 คะแนน ลบออก และนำไปคำนวณใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์สามารถไปสังกัดเฉพาะพรรคที่จะได้ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่านายไพบูลย์ต้องการจะไปอยู่พรรคนั้นหรือไม่ และ พรรคนั้นจะยอมรับนายไพบูลย์หรือไม่ หากพรรคที่จะได้จำนวน ส.ส.เพิ่มมากขึ้นไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ

นายสมชัย กล่าวอีกว่า หากนายไพบูลย์ได้ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะแทรกลำดับของผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะอย่างไรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ของพรรคอย่างแน่นอน นอกจากนี้กรณีของนายไพบูลย์จะเข้าข่ายเป็นการควบรวมพรรคหรือไม่ เพราะพรรคประชาชนปฏิรูปมี ส.ส.เพียงคนเดียว ดังนั้นการที่นายไพบูลย์ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐจะเท่ากับการย้ายพรรค 100 เปอร์เซ็นต์ กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากในทางการเมือง เนื่องจากพรรคใหญ่จะใช้วิธีการเดียวกันนี้ ให้พรรคเล็กยุบและดึง ส.ส.ของพรรคนั้นเข้ามาอยู่ในพรรคใหญ่ เพื่อเลี่ยงกฎหมายการควบพรรคการเมือง หรือ พรรคเล็กอยากจะหนีความเสี่ยงว่าจะหลุดออกจากตำแหน่ง ส.ส.เพราะได้คะแนนรวมของพรรคต่ำ ไปสังกัดพรรคใหญ่แทน ซึ่งจะทำให้หลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายผิดเพี้ยนไปหมด จึงขอให้ กกต.นอกจากจะคิดในเชิงนิติศาสตร์แล้ว อยากให้มองในทางรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบที่ตามมาในภายหลัง ทั้งนี้เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และ เป็นเรื่องที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน จึงไม่มีบทบัญญัติใดๆเกี่ยวกับกรณีนี้