มช. โชว์นวัตกรรมการแพทย์ ชูสารสกัดใช้ร่วมคีโม

2019-08-16 12:38:03

มช. โชว์นวัตกรรมการแพทย์ ชูสารสกัดใช้ร่วมคีโม

Advertisement

มช. โชว์นวัตกรรมการแพทย์ ชูสารสกัดที่นำมาใช้ร่วมกับเคมีบำบัดรักษามะเร็งจนได้สิทธิบัตรทั่วโลก พร้อมนำเทคโนโลยี VR มาบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และขวดพลาสติกช่วยหยอดตา


เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 ส.ค. ที่ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดิจกรรม “MED CHIC Innovation Day 2019” ภายใต้หัวข้อขับเคลื่อนการบริการทางการแพทย์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แสดงนวัตกรรมทางการแพทย์ และศักยภาพบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Global Hub) ด้านนวัตกรรมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยภายในงานมีการนำนวัตรกรรมต่างๆ มาจัดแสดงมากมาย โดยมีนวัตกรรมเด่นๆ ได้แก่ การค้นพบสารสกัดที่นำมาช่วยเสริมเคมีบำบัด (คีโม) รักษามะเร็ง ซึ่งได้สิทธิบัตรทั่วโลก การนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอัมพฤกษ์อัมพาต รวมถึงการนำขวดพลาสติกเหลือใช้มาเป็นอุปกรณ์ช่วยหยอดตา รวมถึงการเปิดตัวหุ่นยนต์สำหรับช่วยฝึกฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และมีคณาจารย์ทางการแพทย์กว่า 30 ราย ที่มีการนำนวัตรกรรมมาผสมพสานเข้าสู่การรักษาทางการแพทย์มาจัดแสดงภายในงานด้วย


ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ นักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิทธิบัตรทั่วโลกที่ได้มาจากการค้นพบสารสกัดที่นำมาช่วยเสริมยาคีโมรักษามะเร็งนั้น แต่เดิมแล้วนักวิจัยในต่างประเทศได้ค้นพบเซลล์มะเร็ง และได้คิดค้นวิธีรักษาด้วยการเพาะเชื้อในห้องทดลองและใช้สัตว์ทดลองมาสร้างตัวยา จนได้รับรางวัลโนเบล แต่การทำดังกล่าวค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และต้นทุนสูง ตัวยาก็จะแพง จึงได้คิดค้นหาสารสกัดที่มีฤทธิ์แบบเดียวกัน จนได้พบสารสกัดเอสเพอริดิน จากเมล็ดส้ม เมล็ดมะนาว รวมถึงเซซามี จากงา นำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน แล้วได้ทำการทดสอบเรียบร้อยในห้องปฏิบัติการ เมื่อนำไปใช้กับยาคีโม พบว่าเพิ่มประสิทธิภาพของการฆ่าเซลล์มะเร็ง ลดการใช้ยา และลดการแสดงออกของโมเลกุล PD-L1 บนเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรงได้ ลดการอักเสบ และลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาถือเป็นรายแรก ยังไม่เคยมีใครรายงานมาก่อน จึงได้ยื่นจดสิทธิบัตรทั่วโลก (PCT) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ในนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ทำออกมาเป็นแคปซูลจากธรรมชาติ ซึ่งว่า Sesamix – Z และได้ทำการทดลองในสัตว์ทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมผลการศึกษาขั้นสุดท้ายซึ่งจะรายงาน และตีพิมพ์ลงในวารสารต่อไป

ด้าน รศ.นพ.จักรกริช กล้าผจญ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี VR หรือโลกเสมือนจริงมาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคอัมพฤกษ์อัมพาตนั้น เพราะจากการสังเกตเห็นว่าทำไมคนถึงติดเกม และทำไมการบำบัดทั่วไปถึงไม่ดึงดูดคนให้มารักษา จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยสื่อฯ มช. คิดค้นแอพพลิเคชั่น รวมถึงท่าทางที่ใช้ในการรักษาออกมา จนกลายเป็นเกมสำหรับการฟื้นฟู การบำบัดรักษา โดยเกมหยิบดาว จะเป็นการเคลื่อนไหวแขนขึ้นและลง เกมหยิบยื่นไอศกรีม จะเคลื่อนไหวแขนไปข้างหน้าและหลัง ส่วนเกมยิงปืน จะเคลื่อนไหวซ้ายและขวา ซึ่งจากการทดสอบนั้นผู้ป่วยรู้สึกดี และชื่นชอบมาก แต่ผู้ป่วยนั้น จะต้องมีกำลังแขนบ้าง ถึงจะเข้ารับการบำบัดลักษณะนี้ได้ เพราะต้องใช้การเคลื่อนไหว ในอนาคตก็จะต่อยอดไปถึงผู้ป่วยที่เป็นออทิสติก ผู้ป่วยความจำสั้น เมื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นสมบูรณ์ ก็วางแนวทางไว้ว่าอาจจะแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ หรืออาจจะพัฒนาซอฟต์แวร์จำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้นำไปรักษาผู้ป่วยได้




น.ส.นพมาศ อุตะมะ พยาบาลวิชาชีพ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้คิดค้นนำขวดพลาสติกมาตัดและเจาะรู เป็นการรีไซเคิลขวดที่เหลือทิ้ง เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยในการใช้ยาหยอดตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะมือไม้สั่น อาจจะหยอดลงไม่ตรงดวงตา และทำให้สิ้นเปลืองยาในการหยอด เมื่อนำขวดพลาสติกที่ตัดเป็นรูปทรงไปครอบไว้กับดวงตาและหยอดยาลงไปจากปากขวดก็จะตรงกับตาพอดี สามารถที่จะหยอดตาได้ ซึ่งชาวบ้านก็สามารถผลิตเครื่องมือนี้ได้ จากขวดพลาสติกทั่วไป ถือว่าเป็นการลดปัญหาขยะด้วย