“จุรินทร์” ประชุม กรอ.พาณิชย์นัดแรก ตั้งวอร์รูมเกาะติดสงครามการค้า

2019-08-14 18:15:11

“จุรินทร์” ประชุม กรอ.พาณิชย์นัดแรก ตั้งวอร์รูมเกาะติดสงครามการค้า

Advertisement

“จุรินทร์” ประชุม กรอ.พาณิชย์นัดแรก ตั้งวอร์รูมเกาะติดสงครามการค้า เสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที พร้อมตั้งคณะทำงานเจาะตลาดส่งออกรายสินค้า

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ครั้งที่ 1/2562 โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพิจารณาแนวทางรับมือสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบทั่วโลก การผลักดันการส่งออกของไทย การส่งเสริมการค้าชายแดน รวมทั้งรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุน


ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ เห็นชอบตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที ซึ่งจะประกอบด้วยคณะที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และคณะทำงาน รวมทั้ง คณะทำงานด้านกฎระเบียบ ทำหน้าที่รวบรวมและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาด้านกฎระเบียบต่างๆ นำเสนอ รมว.พาณิชย์พิจารณา โดยต้องการให้รายงานตรงมีความว่องใว และจัดทำแผนการดำเนินการต่อไป


นอกจากนี้ได้ให้ตั้งคณะทำงานเจาะตลาดรายสินค้า บริการ และรายตลาด เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนหารือเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวให้สอดรับกับการแข่งขันในภาวะที่ตลาดโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรื่องการเจาะตลาดเร่งด่วนนั้นถือเป็นวาระสำคัญ เช่น ตลาดใกล้บ้าน CLMV กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เพราะถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ นอกจากนั้น คือ ด้านตลาดจีน อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ยังสามารถฟื้นมาใหม่เพราะเราเคยเป็นคู่ค้าข้าวของไทยที่สำคัญ รวมทั้งจอร์แดน กาตาร์ คูเวต เป็นต้น โดยที่ประชุมกำหนดให้มีคณะทำงานขึ้นมาเจาะตลาดรายสินค้า


ส่วนเรื่องการค้าชายแดน จะดำเนินการให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นแม่งาน เน้นหารือและหาข้อเสนอร่วมเอกชนและรับฟังข้อเสนอของเอกชนที่เสนอเปิดด่านชายแดนหลายแห่ง ทั้งนี้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการค้าจะได้ดำเนินการหารือฝ่ายเกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งการเสนอขยายเวลาเปิดด่านด้วย ซึ่งจะได้นำไปเจรจาเวทีร่วมระหว่างแต่ละประเทศชายแดนเร็วๆนี้ด้วย ซึ่งแผนงานที่ตั้งใจคือจะทะลวงด่านค้างท่อที่เป็นอุปสรรคปัญหาอยู่ให้หมดไป เพื่อส่งเสริมการค้า


รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามทางการค้า ประเทศไทยควรใช้จุดแข็งในฐานะการเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งสงครามการค้าที่ยืดเยื้อนี้ทำให้บริษัทต่างๆ พิจารณาการลงทุนในประเทศที่สามเพื่อลดความเสี่ยง ประเทศไทยจึงต้องมุ่งกำหนดวัตถุประสงค์การดึงดูดการลงทุนในแต่ละสาขาให้ชัดเจน ให้เอื้อต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมของเราเอง ตลอดจนประเมินความพร้อมระบบนิเวศน์ (ecosystem) และปัจจัยที่จำเป็นในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน และพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต่อไป




ด้านสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การค้า สรุปด้วยว่า โดยแนวนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ทางฝ่ายเลขาฯได้วางแนวทางรับมือสงครามการค้า 4 ด้าน ตามนโยบายรมว.พาณิชย์ ได้แก่ (1) ด้านการรับมือการเบี่ยงเบนการค้า อาทิ การเฝ้าระวังการไหลทะลักของสินค้าจากต่างประเทศ สอดส่องป้องกันการสวมสิทธิ์ (2) ด้านการตลาดและการส่งออก อาทิ บริหารจัดการตลาดส่งออก กระจายตลาด รุกตลาดเมืองรอง ส่งเสริมการค้าออนไลน์ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการค้าชายแดน ปรับโครงสร้างการส่งออกของไทยเปลี่ยนจากส่งออกสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่ม (3) ด้านการเจรจา เร่งการเจรจาความตกลงการค้าและการลงทุน (FTAs) และกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnerships) ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยต้องพิจารณาหลายมิติประกอบกัน เช่น เศรษฐกิจการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (4) ด้านการลงทุน ปรับนโยบายการลงทุนให้เน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานของไทย ผลักดันให้มีการนำสินค้าไทยร่วมไปกับการลงทุนขาออก