จิตแพทย์ยกกรณี “เจ้าขุน”สังคมควรชี้แนะดีกว่าต่อว่ารุนแรง (คลิป)

2019-08-14 12:50:03

จิตแพทย์ยกกรณี “เจ้าขุน”สังคมควรชี้แนะดีกว่าต่อว่ารุนแรง (คลิป)

Advertisement

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงอาจทำให้ "เจ้าขุน" เสียกำลังใจ เชื่อมีครอบครัวที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ สนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงการแสดงออกที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แนะคนในสังคมช่วยกันให้คำแนะนำ ดีกว่าต่อว่ากันด้วยคำที่รุนแรง

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดราม่าของ "เจ้าขุน - จักรภัทร วรรธนะสิน" จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ว่า การแสดงสัญลักษณ์ทางมือ หรือการหยิบไมค์โครโฟนจากมือของพิธีกรมานั้น อาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่เจ้าขุนเป็นเด็ก อายุ 16 ปี อาจทำผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำไปเพราะใจร้อน ขาดความคิดไตร่ตรองที่ดี แต่หากเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตข้างหน้าได้ ส่วนการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงนั้น อาจมาจากการที่เจ้าขุนและครอบครัวอยู่ในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน สังคมก็อาจคาดหวังสูง ว่าการเป็นคนของประชาชนจะต้องดีทุกอย่าง ซึ่งผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุ่นแรงในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น หากเจ้าขุนได้อ่านข้อความในโซเชียล อาจรู้สึกเสียกำลังใจพอสมควร หรืออาจทำให้เกิดความวิตกกังวลในการออกสื่อครั้งต่อไป รวมถึงอาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเป็นคนของประชาชน แต่เจ้าขุนเองอาจตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และอาจจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ ส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าขุนมีครอบครัวที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงในอนาคตในเรื่องการแสดงออกที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น


ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า หากคนในสังคมช่วยกันให้คำแนะนำที่ดีนั้น ย่อมดีกว่าการต่อว่ากันด้วยคำที่รุนแรง ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับเยาวชน พ่อแม่ของเยาวชนก็มีส่วนร่วมด้วย จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ครอบครัวทั่วๆไปสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการสอน บุตรหลาน ทั้งในแง่ดีและแง่ไม่ดี ทุกคนจะสังเกตได้ว่าเหตุการณ์นี้มีเรื่องดราม่ามากมาย จนมองข้ามเรื่องที่ดีไปหลายเรื่อง เช่น การยอมรับความพ่ายแพ้ แม้ว่าตอนแรกจะรู้สึกมุ่งมั่นกับการสู้ครั้งนี้มาก แต่เมื่อแพ้ก็ยอมรับการให้เกียรติคู่ต่อสู้ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การให้ความเคารพ การขอบคุณกับคนที่มาให้กำลังใจขอบคุณกับคนที่มาคอยให้การสนับสนุน ส่วนในแง่ที่ไม่ดีนั้น ครอบครัวทั่วไป สามารถหยิบเรื่องที่ไม่เหมาะสม มาสอนบุตรหลาน ด้วยวิธีการถาม ว่าหากลูกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องอยากพูด แต่พิธีกรกำลังพูดอยู่ ควรจะทำอย่างไร ควรจะรอจังหวะแบบไหน หรือจะใช้วิธีสะกิดพิธีกร ซึ่งเรื่องการขอบคุณนั้น สามารถทำได้เมื่อจบเหตุการณ์นั้นๆ การสอนผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเกิดประโยชน์กับบุตรหลานในอนาคตได้

ขอบคุณภาพ 10 FIGHT 10,ช่อง เวิร์คพอยท์