“อีโบลา” เรื่องเศร้าจากอีกซีกโลก

2019-08-11 16:05:02

“อีโบลา” เรื่องเศร้าจากอีกซีกโลก

Advertisement


เศร้าและหดหู่ใจยิ่งนัก เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แม่เป็นคนฝังลูกชายหัวแก้วหัวแหวน 2 คนกับมือ มาในสัปดาห์นี้ ผู้เป็นแม่กลับถูกฝังเสียเองในสุสานแห่งเดียวกันกับลูกชาย หลังร่างไร้วิญญาณของเธอถูกดินกลบหน้าแล้ว สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง พยายามที่จะเดินจากไป แต่ก็ไม่อาจพาตัวเองจากไปได้ “ในที่สุดเขาก็ไปและยืนกอดอก ต่อหน้าหลุมศพของลูกชายเหยื่อ จ้องมองไปที่ภาพของเขาที่ติดอยู่กับไม้กางเขน และมองไปที่หลุมศพ 4 หลุมที่เรียงรายกันอยู่ เขายืนจ้องมองอยู่อย่างนั้นอย่างน้อย 10 นาที หัวใจสลาย”

แม่และลูก ๆ ผู้โชคร้าย อยู่ในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตกว่า 1,600 คน จากการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาที่กำลังเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ คองโก ปัจจุบันนี้ จากการประเมินคร่าว ๆ ขององค์การอนามัยโลก หรือฮู (WHO)

การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ในจังหวัดคูวูเหนือ (North Kivu) ของดีอาร์ คองโก และขณะนี้ ฮูได้ประกาศให้การระบาดของอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพแล้วเมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และนี้คือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของฮู

นอกจากเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว ภูมิภาคแห่งนี้ ยังเกิดความขัดแย้งทางอาวุธมาเนิ่นนานแล้ว และวันดีคืนร้าย กลุ่มติดอาวุธที่มีอยู่หลายสิบกลุ่ม ก็ลุกขึ้นมาก่อความรุนแรงเป็นระยะ องค์การอนามัยโลกได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เพื่อคุ้มครองศูนย์รักษาโรคอีโบลา





จอห์น เวสเซลส์ ช่างภาพผู้สื่อข่าว กล่าวว่า ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยจากความรุนแรง ทำให้การควบคุมการระบาดของอีโบลาไร้ประสิทธิภาพ บางวัน การควบคุมโรคและรักษาผู้ป่วยต้องหยุดลงกลางคัน เนื่องจากเกิดความไม่ปลอดภัยและการยิงต่อสู้กันในพื้นที่ ซึ่งมันยิ่งเพิ่มปัญหายุ่งยากซับซ้อนและตึงเครียดสำหรับสมาชิกในชุมชนและคณะแพทย์ด้วย

เวสเซลส์ ช่างภาพผู้สื่อข่าวชาวแอฟริกาใต้ ที่มีสำนักงานอยู่ในคองโก อยู่ในพื้นที่เพื่อรายงานวิกฤตดังกล่าวตั้งแต่อีโบลาเริ่มระบาดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาได้เห็นครอบครัวที่เสียใจจากไวรัสมรณะชนิดนี้ และได้เห็นชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากความรุนแรง พร้อมทั้งมีร่องรอยความสูญเสียจากโรคนี้มากมาย และเราไม่อาจจินตนาการได้ว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จะรู้สึกเครียดมากขนาดไหน




“ความจริงที่ว่า ขณะนี้ แม้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ มันยังหนักหน่วงรุนแรงและอันตรายเหมือนเดิม”

ไวรัสอีโบลา ระบาดครั้งแรกในปี 2519 ซึ่งเป็นการระบาดในเวลาไล่เลี่ยกัน 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในเมืองเอ็นซารา ซูดานใต้ และอีกครั้งเกิดขึ้นในเมืองยัมบูคู ของคองโก จากนั้นก็เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำอีโบลา ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อ “อีโบลา”

อีโบลาเป็นโรคที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตโดยมีอัตราการตายเฉลี่ย 50% มันแพร่กระจายระหว่างมนุษย์ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เลือด, อุจจาระ หรืออาเจียน หรือสัมผัสโดยตรงกับวัตถุที่ปนเปื้อน เช่นเข็มและหลอดฉีดยา



แม้จะมีอันตรายก็ตาม แต่เวสเซลส์ บอกว่า เขาไม่จำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันในขณะรายงานข่าวการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม เขาทำตามหลักปฏิบัติที่เข้มงวดและใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไวรัส เช่นรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากโซนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการติดเชื้อและล้างมือบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขามีแผนการที่จะรายงานการระบาดของโรคมรณะต่อไปเพื่อให้โลกภายนอกได้เห็นว่า ประชาชนในคีวูเหนือ ตื่นตระหนก, เครียด และหัวใจสลายมากขนาดไหนกับวิกฤตครั้งนี้

**********************

เมื่อต้นเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลก ประกาศให้การระบาดของอีโบลาในดีอาร์ คองโก เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดเป็นครั้งที่ 2 ของอีโบลา ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 1,600 คน และกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้าในการต่อสู้กับเชื้ออีโบลา “เวลาหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง”

ในกรณีที่มีการระบาดของอีโบลา เมื่อมีผู้สงสัยว่าได้รับเชื้อ เราต้องรีบเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบและยืนยันอย่างรวดเร็ว อาการของโรคจะคล้ายกับโรคอื่น ๆ หลายโรค เช่นมาลาเรีย โดยมันอาจเริ่มต้นด้วยการปวดท้อง, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, เป็นไข้ เป็นต้น หลังจากได้รับเชื้อ 2 วัน อาการต่าง ๆ เหล่านี้ จะปรากฏ และอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่นท้องร่วง ไข้สูง และหลังจาก 5 ถึง 7 วัน จะเริ่มมีอาการเลือดออกไม่หยุด เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยก็จะสูญเสียพลัง อ่อนแรง



อีโบลาไม่ได้ฆ่าคุณแบบทันทีทันใด มีเวลาพอที่ได้รับความช่วยเหลือทัน หากคุณเข้ารับการรักษาตัวที่ศูนย์รักษาในช่วงแสดงอาการ 2 วันแรก โดยคุณมีโอกาสรักษาหารถึง 95% แต่หากคุณปล่อยเวลาล่วงเลยไปจนถึง 10 วัน หลังเริ่มแสดงอาการ คุณก็มีโอกาส 95% ที่จะเสียชีวิตเช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แล้วแน่นอน สำหรับการระบาดของอีโบลา เมื่อฮูเองก็รู้ชะตากรรมแล้วว่า ตัวเองก็เอาไม่อยู่ เลยต้องออกมาเรียกร้องให้โลกร่วมมือกันจัดการปัญหาการระบาดของอีโบลา ในดีอาร์ คองโก หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ มาร์กาเรต แฮร์ริส โฆษกหญิงของฮู บอกว่า การระบาดของอีโบลา จำเป็นต้องได้รับการสนองตอบทั่วโลก และต้องทำงานร่วมกันเพื่อหยุดอีโบลา

ยังไงก็เอาใจช่วย ให้ควบคุมโรคได้โดยเร็วนะครับ

ภาพจาก CNN