ถกปัญหาเด็กจมน้ำลดการสูญเสีย

2019-07-30 16:55:04

ถกปัญหาเด็กจมน้ำลดการสูญเสีย

Advertisement

สสส.-WHO-สธ.-RNLI ถกปัญหาเด็กจมน้ำ หลังปี 2559 พบทั่วโลกจมน้ำเสียชีวิต 322,000 คน เอเชียนำลิ่วร้อยละ 60 เป็นเด็กมากสุด ด้านประเทศไทยชูความสำเร็จยุทธศาสตร์ชาติลดเด็กจมน้ำเหลือร้อยละ 50 ในปี 2561 พร้อมยกบทเรียนเผยแพร่เพื่อนสมาชิ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่โรงแรมดิเอทัส ลุมพินี จัดงานประชุมภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออกว่าด้วยเรื่องการป้องกันการจมน้ำ (SEA Regional Meeting on Drowning Prevention) ระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค. จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ (RNLI) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก WHO South-East Asia และองค์กรนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 16 ประเทศ


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต จึงกำหนดมาตรการป้องกันอย่างจริงจังในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งลดเด็กจมน้ำเสียชีวิตจากปีละ 1,500 คน เหลือ 681 ในปี 2561 ผลการลดอัตราการตายลงได้ร้อยละ 50 นี้ล้วนมาจากการกำหนดแผนป้องกันการจมน้ำอย่างบูรณาการในแต่ละกระทรวง เช่น แผนฉุกเฉินอุบัติเหตุทางน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนนโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก แผนยุทธศาสตร์ชาติ(ด้านสาธารณสุข) ระยะ 20 ปี เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้งปัจจัยเสี่ยงระดับบุคคล ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า เด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะธรรมชาติวัยนี้ชอบเรียนรู้สิ่งรอบตัว สสส. จึงดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและ ลดอัตราการเสียชีวิต จากการจมน้ำ การทำงานได้เชื่อมประสานระหว่างโรงเรียน ภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม อาทิ การออกกำลังกายเพื่อรอดชีวิตทางน้ำ เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่เล่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำให้แหล่งน้ำในชุมชนปลอดภัย พร้อมผลักดันให้เกิดมาตรการสนับสนุนป้องกันการจมน้ำของเด็กในระดับจังหวัด


“การแก้ปัญหาให้ได้ผล ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการแหล่งน้ำในชุมชนที่พบว่าเป็นจุดเสี่ยงที่เด็กเสียชีวิตมากที่สุด ต้องทำให้ปลอดภัย โดยเครือข่ายในชุมชนร่วมมือกัน ซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนให้ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนาพัฒนากล่องชุดความรู้ 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ครูช่วยเรื่องการเรียนการสอน 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำที่สามารถสอนผ่านกิจกรรมเกม ที่ทั้งเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ชุมชนเอง ก็สามารถนำไปต่อยอดได้” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.แผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (WHO-SEARO) เปิดเผยว่า ปัญหาการจมน้ำเสียชีวิตทำให้เกิดความสูญเสียทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม แต่ประชาชนยังตระหนักต่อปัญหาน้อยเมื่อเทียบกับผลกระทบ จากสถิติพบว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตเพราะการจมน้ำทั่วโลกถึง 322,000 คน โดยเฉพาะการเสียชีวิตเกิดในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของสังคม ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เกิดขึ้นในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดย อัตราการตายในประเทศไทยนั้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกเกือบเท่าตัว ดังนั้นการป้องกันการจมน้ำจึงต้องร่วมกันทุกฝ่าย

“องค์การอนามัยโลกขอขอบคุณองค์กรเจ้าภาพร่วม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ Royal National Lifeboat Institution (สหราชอาณาจักร) ที่ร่วมกันเพื่อจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม เพื่อไม่ให้ประชากรภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกสูญเสียชีวิตจากการจมน้ำ” นพ.ดร.ทักษพล กล่าว


น.ส.เก็มมา เมย์ ผู้จัดการด้านการผลักดันนโยบายระดับนานาชาติ สถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ (Royal National Lifeboat Institution - RNLI) สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ถือเป็นความยินดีที่สถาบันฯ ได้เข้าร่วมเวทีสำคัญนี้ เพื่อเพิ่มความตระหนักและสร้างเสริมการดำเนินงานที่สอดประสานกันเรื่องการป้องกันการจมน้ำในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกและองค์กรสากลต่างๆ รวมถึงรัฐบาลนานาชาติในการขับเคลื่อนมาตรการและข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้และความชำนาญด้านการช่วยชีวิตคน เพื่อสนับสนุนให้การป้องกันการจมน้ำถูกยกระดับเป็นวาระสำคัญของโลก เพื่อลดหนึ่งในสาเหตุหลักการสูญเสียชีวิตของประชากร