แห่จับ! "กุ้งหัวเรียว" นับแสนตัว โผล่ปากน้ำกระบี่

2019-07-10 15:00:33

แห่จับ! "กุ้งหัวเรียว" นับแสนตัว   โผล่ปากน้ำกระบี่

Advertisement

กุ้งหัวเรียวนับแสนตัว โผล่แม่น้ำกระบี่จำนวนมาก ชาวประมงพื้นบ้านนำอวนลอยจับกุ้งหัวเรียวได้เฉลี่ยรายละ 50-100 กก. สร้างรายได้วันละ 5,000-10,000 บาท ด้าน ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 เผยเป็นผลจากการปิดอ่าวต่อเนื่องทุกปีและได้รับความร่วมมือจากชาวประมงไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย

วันที่ 10 ก.ค. นายพงษ์ศักดิ์ นิธิกรกุล ผอ. ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล เขต 3 (กระบี่) นำเรือตรวจประมงทะเลออกสำรวจบริเวณปากแม่น้ำกระบี่หลังพบชาวประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่ประมาณ 30-50 ลำ นำเรือหางยาวออกทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลอยไปวางในทะเล บริเวณร่องน้ำกระบี่ ต.คลองประสงค์ อำเภอเมือง จ.กระบี่ และสาวอ้วนขึ้นมา สามารถจับสัตว์ทะเลประเภท กุ้งหัวเรียว ได้เป็นจำนวนมาก เฉลี่ยลำละ 50-100 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 80-100 บาท สร้างรายได้เป็นอย่างดี โดยกุ้งหัวเรียว มีขนาดตั้งตั้งแต่ 2-4 นิ้ว ประมาณ  40 ตัวต่อกิโลกรัม ชาวประมงจะนำขึ้นไปขายบนฝั่งซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ในราคา กก.ละ 80 บาท

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กุ้งหัวเรียว เป็นกุ้งทะเลที่มีขนาดใหญ่มีขนาดตั้งตั้งแต่ 2-4 นิ้ว เป็นที่นิยมของพ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากมีความสด รสชาติอร่อย สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่นนำไปแช่น้ำปลา กุ้งหวาน แกงและผัด ซึ่งกุ้งหัวเรียวจำนวนนับล้านตัว กระจายในพื้นที่ชายฝั่งกระบี่ ที่ผ่านมาพบในพื้นที่ อ.เมือง อ.อ่าวลึก และเหนือคลอง ในปีนี้พบบริเวณปากน้ำกระบี่ และพบเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันมาหลายปี โดยกุ้งทะเล หรือกุ้งหัวเรียว จะพบมากในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน แต่ปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี คาดว่าเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง




นายพงษ์ศักดิ์กกล่าวอีกว่า สาเหตุที่กุ้งหัวเรียวและสัตว์น้ำอาศัยทะเลกระบี่จำนวนมาก เป็นผลจากความร่วมมือของชาวประมงในพื้นที่ไม่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ประกอบกับการออกปฎิบัติงานควบคุมเฝ้าระวังต่อเนื่องและมีการปิดอ่าวทุกปี ห้ามทำประมงในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ปี 62 รวม 3 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย-30 มิ.ย. และการบังคับใช้กฎหมายในเขตทะเลชายฝั่งอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ และจากผลการดำเนินคดี ตาม พ.ร.ก.การประมง สถิติการจับกุมดำเนินคดีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวประมงจับปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก