หมายเหตุสถานการณ์:สถานการณ์ก่อน-หลัง 25 ส.ค.ร้อนปรอทแตก..แต่ "เอาอยู่"..!!

2017-07-28 00:55:01

หมายเหตุสถานการณ์:สถานการณ์ก่อน-หลัง 25 ส.ค.ร้อนปรอทแตก..แต่ "เอาอยู่"..!!

Advertisement

สถานการณ์ก่อน-หลัง 25 ส.ค.ร้อนปรอทแตก..แต่ "เอาอยู่"..!!
เคยบอกว่าจะ "หมายเหตุสถานการณ์" สัปดาห์ละ 3 วัน แต่ขาดหาย-ผิดคิวไปร่วม 2 ครั้ง เหตุเพราะสุขภาพและธุรการงานยุ่งขิง ก็กราบขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ตรงนี้
กลับมาวันนี้ก็อยากโฟกัสสถานการณ์ร้อน..คดีร้อน ส.ค. 2560 ที่บางกลุ่ม/ฝ่าย ร้อนรุ่มเหมือนโดนไฟประลัยกัลป์...มาติดตามสถานการณ์กันด้วยข้อมูล ไม่พยายามใส่อารมณ์ปรุงแต่ง นอกจากความเห็น การคาดหมาย...
คดีร้อน ส.ค. 2560



         - 1 ส.ค. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงปิดคดีรับจำนำข้าวด้วยวาจา และยื่นคำแถลงแบบลายลักษณ์อักษร
          -2 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลย 4 คน คือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
           -25 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้กับประเทศจีน จำเลยคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวก
             -ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีรับจำนำข้าว  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย


             -ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 หรือ NBT เมื่อปี 2551จำเลยส่วนใหญ่เป็นการ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่รู้จักกันในนาม "นักรบศรีวิชัย" และประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ  จำเลยส่วนใหญ่ถูกพิพากษาจำคุก (ไม่รอลงอาญา) ในชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์
             -29 ส.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ศาลปราบโกง) ตัดสินคดีที่ดินอัลไพน์  นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นจำเลย
ข้อกังวลสถานการณ์
คดีที่ถูกโฟกัสว่าอาจจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดความวุ่นวายได้จากการปลุกปั่นของบุคคลบางกลุ่ม คือ คดีของนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ และคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีหลังทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าศาลจะตัดสินอย่างไร และจำเลยรวมทั้งแกนนำมิตรร่วมรบทั้งหลายก็ทราบดีว่าหากศาลตัดสินว่าผิดก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดโอกาสให้ ต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ในศาลอาญาของ "นักการเมือง" นั้น ม้วนเดียวจบไม่มีอุทธรณ์
             คำถามมีอยู่ว่าแล้วทำไมนางสาวยิ่งลักษณ์และพวกถึงได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงกันเป็นที่ยิ่ง บางรายถึงขั้นออกมาพูดจาหมิ่นเหม่เข้าข่ายดูหมิ่นศาลหรือไม่ว่า ผู้พิพากษาไม่ได้มีแค่ 9 คนหากแต่มีเป็นล้านๆ คนที่จะไม่ทำให้ยิ่งลักษณ์โดดเดี่ยว..!!

ใช่หรือไม่ว่าคำตอบก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าความกลัวว่าจะถูกลงโทษจำคุก หากถูกลงโทษแม้จะอุทธรณ์ได้แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะหลุดรอดคดี...แล้วคนอย่างยิ่งลักษณ์หรือแม้แต่สมชาย มีหรือจะยืดอกรับชะตากรรมเยี่ยงนั้นได้ ยิ่งกว่านั้น พ.รป.วิธีพิจารณคดีของนักการเมือง ที่เพิ่งผ่าน สนช.และอีกไม่กี่วันนายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย  ก็เป็นกฎหมาย ”ไล่ล่าคนโกง” สามารถนำคดีที่เว้นวรรคหรือจำหน่ายไว้มาพิจารณาต่อได้ คดีต่างๆ จะไม่มีอายุความ ฯลฯ นั้น  แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคนที่รับอานิสงส์ไปเต็มๆ คือนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีคดีทุจริตค้างคาอยู่อย่างน้อย 4 คดี  นี่คืออีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ถมทับ


ดังนั้น ยุทธการระดมพล ระดมประชาชนจากบางฝ่ายจึงถูกกำหนดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ  เป้าหมายคือมาให้กำลังใจกันแบบมืดฟ้ามัวดิน แน่นบริเวณศาล  และบริเวณใกล้เคียง  นัยว่าเพื่อเป็นการกดดันศาลไปในที...

ไม่แต่เท่านั้นประเด็นที่หน่วยข่าวกำลังค้นหา เกาะติดก็คือ  ความเคลื่อนไหวในเชิงป่วนบ้านป่วนเมือง  ก่อความรุนแรงก่อนและหลังคดี  เหมือนเมื่อครั้งปี 2553 ที่เกิดกรณี ”ขอนแก่นโมเดล” เผาศาลากลางหลายจังหวัดในภาคอีสานต่อเนื่องจากการสลายการชุมเมื่อ 19 พ.ค. 2553
อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า  มีแกนนำของพรรคการเมืองบางพรรคติดต่ออดีตนายทหารยศ ”พันเอก” จากฝั่งลาวให้มาร่วมปฏิบัติการในห้วงก่อนและหลัง 25 ส.ค. เหมือนเมื่อครั้งการเผาศาลากลางอุบลราชธานีปี 2553...
 
ข่าวทำนองนี้จำนวนมากมีอยู่ในแฟ้มของหน่วยข่าวกรอง ที่กำลังจะถูกคัดกรองและเกาะติดเพื่อหาทางหยุดยั้ง ในขณะที่ผู้นำของรัฐบาลทั้ง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ได้พูดจาส่งสัญญาณให้หยุดความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน
แนวโน้มสถานการณ์และข้อเสนอแนะ  


ก่อนจะถึงวันที่ 25 ส.ค.แนวรบที่เปิดเผยของ ”ยิ่งลักษณ์” ก็คงเคลื่อนไหวใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเรียกร้องขอความเห็นใจจากสังคม  พยายามอธิบายความว่าตัวเองและอาจรวมถึงตระกูลชินวัตรถูกรังแก             
อีกด้านหนึ่งก็คงงัดตำราและกลเม็ดเด็ดพรายขับเคลื่อนประเด็นทางกฎหมายต่างๆ ดังเช่นล่าสุดยังดิ้นสู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยระบุว่าศาลฎีกาฯ ไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ส่งข้อเสนอของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ตรวจสอบการประเมินสถานการณ์ของหน่วยข่าวยังเชื่อว่าแม้สถานการณ์จะร้อนแรงพอประมาณแต่เชื่อว่ายังไม่บานปลายกลายเป็นการป่วนบ้านป่วนเมืองแบบจลาจลหรือเผาบ้านเผาเมือง  สถานการณ์โดยรวมอยู่ในระดับที่ “เอาอยู่”  เพราะหากพลพรรคเพื่อไทยหรือ นปช.เคลื่อนไหวแบบรุนแรงแตกหัก  โอกาสที่โรดแม็ปการเลือกตั้งจะเคลื่อนหรือเลื่อนไหลยาวนานกว่าเดิมอาจจะเกิดขึ้นอย่างชอบธรรม  พรรคเพื่อไทยที่วาดหวังเผด็จศึก คสช.ด้วยการเลือกตั้งคงไม่ยอมทุบหม้อข้าว โอกาสของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ไม่อยากให้ คสช.-รัฐบาลปิดทางปิดโอกาสการแสดงออกของมวลชนที่สนับสนุนยิ่งลักษณ์ลงอย่างสิ้นเชิงหรือตึงเปรี๊ยะจนเกินไป ควรที่จะใช้มาตรการทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ผสมผสาน   อาศัยการจัดระเบียบที่ผ่อนสั้นผ่อนยาว และการทำความเข้าใจแบบทั่วถึงน่าจะเป็นการดีที่สุด