ส.ส.หลากหลายทางเพศเสนอตั้ง กมธ. แยกอีกคณะ (คลิป)

2019-07-04 12:20:09

ส.ส.หลากหลายทางเพศเสนอตั้ง กมธ. แยกอีกคณะ (คลิป)

Advertisement

กลุ่ม ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วยข้อสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกต่างหากอีกคณะ

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กลุ่ม ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ให้ตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกต่างหากอีกคณะหนึ่ง

นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการยื่นหนังสือขององค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ความเป็นธรรมทางเพศและสังคม ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา และต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างระเบียบข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 มิ.ย. เพื่อให้มีสภาผู้แทนราษฎรมีจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศ ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้องบังคับฯ ได้มีข้อสรุปการพิจารณาล่าสุดว่าให้ประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศถูกบรรจุอยู่ใน คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยจัดให้อยู่ในลำดับท้ายชื่อของคณะกรรมาธิการสามัญว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคอนาคตใหม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อผลักดันประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เรารู้สึกยินดีที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยกร่างข้อบังคับคำนึงถึงมิติความหลากหลายทางเพศ และได้บวกรวมประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศไปด้วย


ด้าน นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า เรายังมีข้อกังวลและไม่เห็นด้วยกับการไม่ตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกต่างหาก และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นการเฉพาะ ไม่นำไปผนวกรวมอยู่กับประเด็นเฉพาะทางอื่นๆ อันเนื่องมาจาก 1.ข้อมูลขององค์กร LGBT-Capital เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่เป็นจำนวนกว่า 4 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นี่คือตัวเลขที่สามารถเก็บข้อมูลได้เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วอาจมีตัวเลขสูงถึงเกือบ 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย

2.รายงานวิจัยจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รวมถึงรายงานจากธนาคารโลก (World Bank) บ่งชี้และแสดงให้เห็นสภาพปัญหาการขาดกฎหมายคุ้มครองรับรองสิทธิและความเสมอภาคของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการไม่สามารถใช้สิทธิการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บุคคลข้ามเพศไม่สามารถแก้ไขข้อมูลประวัติทะเบียนราษฎร์ให้สอดคล้องกับเพศสภาพ หรือการบังคับใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ก็ดำเนินงานไปอย่างล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์การเลือกปฏิบัติและการกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศและการแสดงออกทางเพศ

3.ประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมีพันธกรณีต่อกติกาและอนุสัญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) กติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับให้คุ้มครองบุคคลในมิติทางเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ ตามหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) อีกด้วย 


ขณะที่นายคณาสิต พ่วงอำไพ หัวหน้าคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ด้วยเหตุผล 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าเป็นเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการรับรอง คุ้มครอง สนับสนุน กฎหมายและนโยบายต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกกลไกของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคอนาคตใหม่จึงเห็นว่าต้องมีการจัดตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นการเฉพาะ ไม่นำไปผนวกรวมอยู่กับประเด็นเฉพาะทางอื่น นอกจากนี้จากการรับฟังเสียงประชาชนและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมหลากหลายองค์กรก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน 

นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่จึงขอแสดงจุดยืน โดยเราจะดำเนินการยื่นแปรญัตติอภิปรายร่างข้อบังคับฉบับดังกล่าวต่อไป เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกออกมาโดยเฉพาะ เราขอเรียกร้องและเชิญชวนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านร่วมกันประกาศจุดยืนสนับสนุนการทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทั้งในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ และการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิความหลากหลายทางเพศในสภาฯ ต่อไป เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับสิทธิของบุคคลที่ความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวยังมี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงผู้สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ ได้แก่ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส. จ.ชลบุรี เขต 7 นายนาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ร่วมแถลงข่าวด้วย