ผลชิ้นเนื้อ “น้ำตาล”เจอเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก (คลิป)

2019-06-26 10:30:27

ผลชิ้นเนื้อ “น้ำตาล”เจอเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก (คลิป)

Advertisement

ศิริราชรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูก “น้ำตาล เดอะสตาร์ 5”พบเชื้อวัณโรค ระบุเจอได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล โดยมี รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ร่วมด้วย


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.นั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูก และพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไปจากปกติ ขนาดประมาณ 0.5 – 1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมา หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือ การตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรค ได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าว และผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่ามีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากสถิติของประเทศไทยในปี 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจ ชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง


ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์ 1.อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ 2.ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใด ๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น 3.แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ