ม.แคลิฟอร์เนียฯชมการดูแลผู้ป่วยจิตในชุมชน

2019-06-07 18:20:26

ม.แคลิฟอร์เนียฯชมการดูแลผู้ป่วยจิตในชุมชน

Advertisement

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท ลองบีช สหรัฐฯ ดูงานบริการสุขภาพจิตในชุมชน จ.นครราชสีมา ชมเปาะทำได้ดีกลมกลืนกับบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะรพ.สต.คลองไผ่ ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในครอบครัว มีอาชีพได้ค่าแรงเท่าคนปกติ ชุมชนร่วมดูแลเสมือนเป็นญาติ สามารถลดปัญหาขาดนัดขาดยาจากร้อยละ 62 เหลือไม่ถึงร้อยละ 2 หายดีแล้ว 8 คน สถิติฆ่าตัวตายเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนที่แคลิฟอร์เนีย


นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่าคณะอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท ลองบีช ( University California State, Long Beach) ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 23 คน นำโดย ศ.ดร.พอล รัตนศิริวงศ์ (Professor Dr. Paul Ratanasiriwong) เดินทางมาศึกษาดูงานระบบบริการสุขภาพจิตของ จ.นครราชสีมาในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่การรักษาพยาบาลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในระดับเชี่ยวชาญที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ การฟื้นฟูผู้ป่วยในชุมชนที่วัดห้วยพรม อ.วังน้ำเขียว และที่รพ.สต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว การดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร) รวมทั้งการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดโดยใช้สติบำบัดที่รพ.พิมาย และการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองขาม อ.พิมาย


นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า คณะดูงานได้กล่าวชื่นชมว่า ประเทศไทยสามารถจัดการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเข้มแข็งและเป็นระบบ โดยเฉพาะในระดับชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดท้าทายสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยหายขาดหรือมีอาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบว่าเราทำได้ดี โดยเฉพาะที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองไผ่ ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวช 114 คน สามารถจัดการได้สอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้ป่วยซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ผู้ป่วยมีงานทำ อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น ส่วนชุมชนมีส่วนร่วมดูแลเสมือนเป็นญาติ มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี ถือว่าเป็นความโดดเด่น และใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่ประชาชนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยจะนำรูปแบบของไทยไปประยุกต์ใช้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ชุมชนในแคลิฟอร์เนียในรูปแบบของคลับหรือเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นต้น


ทางด้านนางพัชรากร พันสาง ผอ.รพ.สต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ต.คลองไผ่มี10 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชากรจำนวน 9,785คนมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม มีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 126 คน หายดีแล้ว 8 คน และเสียชีวิตจากเหตุชราภาพ 4 คน ขณะนี้เหลือผู้ป่วย 114 คนกระจายทุกหมู่บ้าน หลักๆจะป่วยโรคจิตเภท 47 คน ซึมเศร้า 44 คน และป่วยจากการใช้ยาเสพติด 10 คน การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจะทำทั้งเชิงรับและเชิงรุก บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในชุมชนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข มีเครือข่ายร่วมดูแล 53 คน และใช้การสื่อสารทางไลน์( LINE) มาช่วยในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับเครือข่าย จัดทีมเยี่ยมบ้านซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ผู้นำชุมชน อบต.คลองไผ่ เทศบาลต.คลองไผ่ อย่างต่อเนื่อง พบว่าได้ผลดี สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขาดนัด ขาดยาซี่งเป็นปัญหาหลักของผู้ป่วยจิตเวชซี่งร้อยละ 80 จะไปที่รพ.ชุมชน อีกร้อยละ 20 ไปที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ผลการดำเนินงานในปี2561 มีผู้ป่วยขาดยาเพียงร้อยละ 1.58 ลดจากช่วงปี 2558 ที่พบสูงถึงร้อยละ 62 ส่วนคนในหมู่บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่มีปัญหาฆ่าตัวตายติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งในช่วงปี 2557-2558 เคยพบปีละ4 คน


สำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ขณะนี้ผู้ป่วยร้อยละ 60 ออกไปทำงานนอกบ้าน ได้รับค่าแรงเท่าคนปกติ อีกร้อยละ 40 อาการดีแต่ญาติยังต้องการให้อยู่ที่บ้าน จึงได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูโดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ชีววิถีที่อยู่ในตำบล จัดอบรมการแปรรูปอาหารที่มีในท้องถิ่น เช่นทำกล้วยฉาบ กล้วยทอด มะละกอแก้ว เพาะเห็ด เพื่อให้เลือกเป็นอาชีพตามที่ชอบและถนัด และส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อตามที่ผู้ป่วยต้องการ เริ่มในปลายปี2561 จำนวน 2 ครอบครัว ได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์จากโรงไฟฟ้าชลภาวัฒนา ผลพบว่าช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยจะประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้ในช่วงปลายปีนี้ แผนในปีหน้าจะหนุนการเลี้ยงไก่อีก 6 ครอบครัว ขณะเดียวกันได้เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชนด้วย เพื่อนำเข้าสู่ระบบรักษาให้เร็ว ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดได้สูง ปีนี้พบแล้ว 6 คน เป็นผู้ป่วยจิตเภทจากเสพยาบ้า