อำนาจที่ได้มา มันยากที่จะละวาง 100 ศพเซ่นประชาธิปไตย ซูดานนองเลือด เมื่อกองทัพตระบัดสัตย์

2019-06-07 10:55:49

อำนาจที่ได้มา มันยากที่จะละวาง   100 ศพเซ่นประชาธิปไตย ซูดานนองเลือด เมื่อกองทัพตระบัดสัตย์

Advertisement

วิกฤตการเมืองในซูดาน กลายเป็นข่าวขึ้นหัวของสื่อทั่วโลกอีกครั้ง หลังทหารบ้าระห่ำกราดยิงประชาชนผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวง ตายมากกว่า 100 ศพ ก่อนหน้าเกิดเหตุ คณะตัวแทนของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เปิดการเจรจากับกองทัพ ว่า จะให้ใครเข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว หลังการโค่นอำนาจประธานาธิบดีเผด็จการโอมาร์ อัล-บาชีร์ ที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนาน 30 ปีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประท้วงต้องการให้พลเรือนมารับหน้าที่บริหารประเทศไปจนว่าจะจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ให้กองทัพมาคุม

การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย จบลงด้วยความล้มเหลว และกองทัพฉีกข้อตกลงทุกข้อที่ทำกับฝ่ายค้าน โดยประกาศใหม่ว่า จะจัดการเลือกตั้งเองภายใน 9 เดือน ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้ประท้วง ที่ยืนยันให้ช่วงเวลาถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยต้องมีอย่างน้อย 3 ปี เพื่อเป็นการรับประกันว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม อำนาจเก่าจะไม่หวนกลับคืนมาอย่างเด็ดขาด

ความวุ่นวายในซูดาน ต้องย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2561 เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชีร์ ประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัดฉุกเฉิน ในความพยายามที่จะป้องกันการล่มสลายของเศรษฐกิจ ด้วยการตัดลดงบประมาณ แม้กระทั่งลดงบประมาณพยุงราคาขนมปังและเชื้อเพลิง จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในภาคตะวันออกเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และความโกรธแค้นนี้ ลุกลามเข้าสู่กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของประเทศ




การประท้วงได้เพิ่มข้อเรียกร้องให้ปลดประธานาธิบดีบาชีร์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมา 30 ปี และรัฐบาลของเขาด้วย และการประท้วงถึงจุดเดือดเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงเคลื่อนขบวนยึดจัตุรัสด้านหน้าศูนย์บัญชาการของกองทัพ เพื่อเรียกร้องให้กองทัพ โค่นอำนาจประธานาธิบดี จากนั้น อีก 4 วันต่อมา กองทัพประกาศยึดอำนาจจากประธานาธิบดีบาชีร์ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

กองทัพเข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศในวันที่ 11 เมษายน แต่ก็พยายามที่จะทำให้สถานการณ์ในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สภาทหารเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ หรือทีเอ็มซี ซึ่งมีสมาชิก 7 คน ถูกจัดตั้งขึ้น นำโดยพลโทอับเดล ฟัตตาห์ อับเดลราห์มาน บูร์ฮาน สภาทหารประกาศว่า มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบด้านบริหารเพื่อทำให้ประเทศเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความมั่นคง แต่กองทัพในซูดาน ไม่ได้เป็นกองทัพที่มีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกัน ยังมีนักรบกึ่งทหารอื่น ๆ และนักรบกลุ่มหัวรุนแรงอีกหลายกลุ่มที่อยู่ในกองทัพ



กองทัพซูดาน ถูกนานาชาติรุมประณามอย่างหนักในการใช้ความรุนแรงโจมตีผู้ประท้วงในกรุงคาร์ทูมเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 รายในวันเดียว สหรัฐประณามในสิ่งที่เรียกว่า เป็นการโจมตีป่าเถื่อน และสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สภาทหารต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ สำหรับเหตุการณ์นี้

ทีเอ็มซี ออกมาตอบโต้เสียงประณาม ด้วยการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่บานปลาย โดยบอกว่า การปฏิบัติการของทหารมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ที่ก่อความวุ่นวายและอาชญากร

ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า นำพาชาวซูดานเดินออกสู่ท้องถนน แต่การประท้วงถูกจัดขึ้นโดยสมาคมวิชาชีพชาวซูดาน หรือเอสพีเอ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักกฎหมาย ผู้ประท้วง ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ซึ่งสะท้อนสถิติประชากรของประเทศ แต่ก็ยังเห็นทุกเพศทุกวัยในฝูงชน มีผู้หญิงหลายคนอยู่แถวหน้า เป็นแกนนำในการประท้วง โดยจะเห็นได้จากคลิปวิดีโอ เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อว่า กันดากา ซึ่งหมายความว่า ราชินีแห่งนูเบีย เป็นผู้นำ เผยแพร่อยู่ในโซเชียล มีเดีย อย่างแพร่หลาย



เมื่อกองทัพยึดอำนาจในเดือนเมษายน ประชาชนยังปักหลักนั่งประท้วงอยู่ด้านนอกศูนย์บัญชาการใหญ่ของกองทัพ และยืนยันว่า กองทัพต้องถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศให้รัฐบาลพลเรือน การเจรจาระหว่างบรรดานายพลของกองทัพและกลุ่มผู้จัดการประท้วง ที่มาร่วมกันภายใต้กลุ่มที่เรียกว่า “พันธมิตรเพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเบื้องต้นมีสัญญาณความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้ว ก็บรรลุข้อตกลงกันได้

กองทัพและผู้ประท้วง ตกลงกันเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมว่า ให้รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ 3 ปี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ่ายโอนอำนาจการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย แต่กลุ่มผู้ประท้วงตั้งเงื่อนไขว่า รัฐบาลของนายบาชีร์ ที่ฝังรากลึกมายาวนาน จำเป็นต้องขุดรากถอนโถนออกไปให้หมด เรียกว่า เครือข่ายการเมืองของนายบาชีร์ ต้องไม่มีหลงเหลืออยู่ในรัฐบาล และต้องจัดการเลือกตั้งอย่างยุติธรรม

ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเรื่องโครงสร้างรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อย ซึ่งรวมทั้งตั้งสภาอธิปไตย, คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติ แต่บรรดานายพลในกองทัพกลับลำ ยกเลิกข้อตกลงเหล่านี้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน และบอกว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะถูกจัดขึ้นภายใน 9 เดือน จึงตัดสินใจยุติการเจรจากับพันธมิตรเพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลง และยกเลิกสิ่งที่ได้ตกลงกันมาทั้งหมด

โรซาลินด์ มาร์สเดน อดีตเอกอัครราชทูตซูดาน ประจำอังกฤษ กล่าวกับบีบีซีว่า การจัดการเลือกตั้งแบบนี้ จะเท่ากับปูทางให้อำนาจเก่ากลับเข้ามาสู่อำนาจเหมือนเดิมอย่างง่ายดาย



การประกาศจัดการเลือกตั้งมีขึ้นไม่นานหลังกองทัพใช้กำลังกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงในกรุงคาร์ทูม หลังการเข่นฆ่าตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 100 ศพ ซึ่งกว่า 40 ศพถูกฆ่าทิ้งลงในแม่น้ำไนล์ช่วงที่ไหลผ่านกรุงคาร์ทูม แต่ทางการให้ตัวเลขอยู่ที่ 46 ศพเท่านั้น

แกนนำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย กล่าวว่า พวกเขาตัดขาดการเจรจาทั้งหมดกับทีเอ็มซีและจะประท้วงแบบอารยะขัดขืน พร้อมจัดการประท้วงใหญ่ต่อไป

ประเทศในแอฟริกาและชาติตะวันตก ต่างสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง แต่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ซึ่งให้การสนับสนุนทีเอ็มซี เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายจัดการเจรจากันอย่างสร้างสรรค์

สหภาพแอฟริกา หรือเอยู ประกาศระงับสมาชิกภาพของซูดานชั่วคราว จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลถ่ายโอนอำนาจที่นำโดยพลเรือน ขณะที่ สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก็ถอนเจ้าหน้าที่ที่ไม่สำคัญทั้งหมดออกจากซูดาน แต่จีนและรัสเซียคัดค้านการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อซูดาน ส่วนนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ประณามเหตุรุนแรงในกรุงคาร์ทูม เรียกมันว่า “น่ารังเกียจ ขยะแขยง”



สถานการณ์จะแตกต่างออกไป หากสหรัฐเรียกร้องให้พันธมิตรในภูมิภาค ทั้งอียิปต์, ซาอุดีอาระเบียและยูเออี เพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพซูดาน

กองทัพซูดานยึดอำนาจประธานาธิบดี ที่ประชาชนเบื่อหน้าแล้วได้อย่างง่ายดาย เพราะมีประชาชนหนุนหลัง แต่พอได้อำนาจมาแล้ว กลับจะยึดครองเสียเอง โดยจะไม่ถ่ายโอนให้พลเรือนตามสัญญา ส่งผลให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นนองเลือด บาดเจ็บล้มตายกันจำนวนมาก

เป็นธรรมดา อำนาจได้มาแล้ว ใครจะคืนกันได้ง่าย ๆ