หนุนปลูกสับปะรดพันธุ์ “สยามโกลด์”ส่งออก

2019-05-30 11:35:09

หนุนปลูกสับปะรดพันธุ์ “สยามโกลด์”ส่งออก

Advertisement

หนุนชาวไร่สับปะรดปลูกพันธุ์ “สยามโกลด์” ส่งออก เผยขายได้ราคาดี แถมเป็นที่ต้องการของตลาด ต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน


เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายอานนท์ โลดทนงค์ รองประธานสภาเกษตร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เลขานุการสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ต้องการซื้อสับปะรดผลสดพันธุ์เอ็มดีทูหรือสยามโกลด์ แบรนด์สับปะรดของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เกษตรกรไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้เนื่องจากผลผลิตในประเทศยังไม่พอจำหน่าย ทำให้ปัจจุบันสับปะรดเอ็มดีทู ขนาดน้ำหนักผลละ 1.5 - 2 กิโลกรัม มีราคาสูงถึง กก.ละ 20 - 25 บาท ขณะที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศเกือบ 5 แสนไร่ แต่เกษตรกรนิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานสับปะรดกระป๋อง แม้ว่าปัจจุบันจะมีราคาสูง กก.ละ 7.50 - 8 บาท แต่คาดว่าในอนาคตสถานการณ์ด้านราคาจะตกต่ำ ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตเหมือนเดิมในรอบหลายสิบปี เมื่อผลผลิตล้นตลาด ขณะที่แนวโน้มตลาดรับซื้อในต่างประเทศต้องการบริโภคสับปะรดผลสดเพิ่มมากขึ้น


นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดได้สนับสนุนให้เกษตรกรหลายอำเภอแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกสับปะรดเอ็มดีทู ตามนโยบายส่งเสริมการบริโภคสับปะรดผลในเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาสับปะรดส่งโรงงานล้นตลาด แต่มีปัญหาจากการจัดซื้อหน่อพันธุ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ขาดความต่อเนื่องในการส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ได้ผลสับปะรดมีขนาดมาตรฐาน รสชาติดี นอกจากนั้นไม่มีการวางแผนการตลาดรองรับ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจ หลังจากมีผลผลิตแล้ว เหลือราคารับซื้อเพียง กก.ละ 5 บาท 


“ขณะนี้ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศมีความต้องการผลผลิตสูงมาก ส่วนการส่งออกไปตลาดต่างประเทศพบว่าสับปะรดเอ็มดีทู สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกตินานกว่าสายพันธุ์อื่นไม่พบปัญหาโรคไส้ดำ สำหรับตลาดส่งออกในญี่ปุ่นพบว่าประเทศฟิลิปปินส์ส่งสับปะรดเอ็มดีทูไปจำหน่ายปีละกว่า 1 แสนตัน ดังนั้นภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้ชาวไร่รวมกลุ่มเพื่อปลูกสับปะรดเอ็มดี ทู ลดการปลูกพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงาน คาดว่าในอนาคตต้นทุนจากการซื้อต้นพันธุ์จะต่ำลงได้สายพันธุ์ที่มีความแข็งแรง ทนต่อโรค ไม่กลายพันธุ์ จากสายพันธุ์เดิมที่พัฒนาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทางราชการได้จัดสรรงบประมาณสร้างโรงปั่นเนื้อเยื่อเพื่อขยายต้นพันธ์ที่ อ.สามร้อยยอด ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบปฏิบัติการ” นายอานนท์ กล่าว