จัดระบบใหม่ “นมโรงเรียน” วุ่นทั้งประเทศ!

2019-05-22 15:50:01

จัดระบบใหม่ “นมโรงเรียน”  วุ่นทั้งประเทศ!

Advertisement

คนเลี้ยงโคนมทั่วไทยเตรียมเทนม ประท้วงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากออกหลักเกณฑ์ใหม่ จัดสรรการผลิตนมโรงเรียนให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มาร่วมโควต้านมโรงเรียนได้

คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด ร่วมกับสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ นำโดยนายนัยฤทธิ์ จำเล , นายสุบิน ป้อมโอชา ,นายวินนา ศรีสงคราม และคนอื่น ๆ ได้ประชุมหารือ พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนการออกข้อตกลงหรือหลักเกณฑ์ใหม่ ที่จัดสรรการผลิตนมโรงเรียนให้ผู้ประกอบการ หรือใครก็ตามสามารถเข้ามาร่วมการผลิตนมโรงเรียนในจำนวน 1,300 ตันต่อวันได้ 

แต่ปรากฏว่า มีบางคณะที่ไม่มีน้ำนมเป็นของตน หรือมีน้ำนมแต่ไม่เพียงพอ หรือแม้แต่กระทั่งไม่ได้ผลิตนมโรงเรียนเองไปกว้านซื้อนมจากแหล่งต่าง ๆ มาเข้าร่วมโครงการเพื่อทำกำไรจากการเปิดโอกาสของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์




ผลลัพธ์ก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเกือบ 30,000 ครอบครัวทั่วประเทศ ไม่สามารถขายน้ำนมให้สหกรณ์โคนมได้ทุกหยดเหมือนเดิมที่เคยเป็นมาอีกต่อไป โดยคาดว่า ข้อตกลงใหม่นี้ จะทำให้มีน้ำนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเหลือวันละกว่า 110 ตัน หรือเดือนละ 3,300 ตัน

คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม บอกว่า จากเดิมที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เคยใช้ระบบการจัดสรรนมทั้งประเทศอย่างเป็นธรรม ไม่มีน้ำนมเหลือในประเทศ และยังสามารถผลิตไปจำหน่ายยังหลายประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย โดยจากเดิมมีการแบ่งนมออกเป็น 3 กองในแต่ละวัน กองที่ 1 ใช้เพื่อผลิตเป็นนมโรงเรียน 1,300 ตัน ,กองที่ 2 ใช้เป็นนมเพื่อพาณิชย์ 700 ตัน และกองที่ 3 เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นนมผง 1,400 ตัน



แต่จากหลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้ทุกสหกรณ์โคนม ถูกปรับลดโควต้าการผลิตนมโรงเรียน เพราะถูกจัดสรรไปให้หลายคณะกลุ่มคนทั้งที่ผลิตน้ำนมเองและไม่ได้ผลิตเอง แต่ใช้วิธีสารพัดวิธีเพื่อให้ได้นมมาเข้าร่วมการจัดสรรใหม่นี้ และผู้เลี้ยงโคนม คงจะต้องเทน้ำนมที่เหลือวันละกว่า 110 ตันทิ้ง เพื่อให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ความเดือดร้อน ให้รู้ว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ในเบื้องต้น ทางคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้ยื่นขอเรียกร้องความเป็นธรรมไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือใครก็ตามที่มีอำนาจทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ ดังต่อไปนี้ 

1.ให้สหกรณ์ขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม หรือนมโรงเรียนได้ สหกรณ์โคนมที่มียอดผลิตไม่เกิน 60,000 ถุงต่อวัน ไม่ต้องปรับลดการผลิตลงตามข้อตกลงหรือหลักเกฌฑ์ใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 



2.ให้มีการทบทวนเรื่องการใช้น้ำนมดิบผลิตนมโรงเรียน ตามปริมาณที่มีอยู่จริงในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำนมไม่ได้มาตรฐาน ที่อาจจะมีการนำมาเข้าร่วมการจัดสรรนมโรงเรียน 

3.ให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากหลักเกณฑ์หรือข้อตกลงใหม่ เนื่องจากแต่ละสหกรณ์โคนม ไม่มีตลาดรองรับน้ำนมดิบที่ถูกปรับลดลงไปจากเรื่องข้อตกลงนี้