"ลดาวัลลิ์" เชื่อ ปชป.รักษาคำพูดไม่หนุน "ลุงตู่" สืบทอดอำนาจ

2019-05-13 14:30:40

"ลดาวัลลิ์" เชื่อ ปชป.รักษาคำพูดไม่หนุน "ลุงตู่" สืบทอดอำนาจ

Advertisement

"ลดาวัลลิ์" ยังเชื่อ ปชป.รักษาคำพูดและหลักการที่ให้สัญญาประชาคมไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งไม่หนุน "ลุงตู่" สืบทอดอำนาจ

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามประเพณีปฏิบัติในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคต้องหลีกทางให้พรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุดก่อน แต่เห็นข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย กลับชิงจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยไม่ทำตามประเพณีปฏิบัติที่ยึดมั่นกันมาหลายยุคหลายสมัย

นางลดาวัลลิ์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ รัฐบาล​ คสช.​ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคสช.บริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำประชาชนตกอยู่ในภาวะลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัส และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็สรุปตรงกันว่าต้องการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อหวังให้มาช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เมื่อดูผลการเลือกตั้งก็จะเห็นว่าประชาชนได้เลือกพรรคการเมืองที่ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ซึ่งมี 7 พรรครวมจำนวน ส.ส. 245 คน ในขณะที่มีเพียง 3พรรค มี ส.ส.138 คนเท่านั้นที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ นอกจากนี้ยังมีอีก 4 พรรค มี ส.ส.116 คนที่ยังไม่ประกาศว่าจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ การกระทำดังกล่าวนี้นอกจากจะไม่ทำตามประเพณีปฏิบัติแล้วยังเป็นการกระทำที่ไม่รับฟังเสียงของประชาชน เมื่อได้อำนาจด้วยการชิงจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะเป็นรัฐบาลที่รับฟังเสียงของประชาชน

นางลดาวัลลิ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจำกันได้ในการเลือกตั้งทั่วไป 17 พ.ย. 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ ส.ส.125 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.123 คน น้อยกว่าพรรคความหวังใหม่ไปแค่ 2 ที่นั่งพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายชวน หลีกภัย ก็ทำตามประเพณีปฏิบัติหลีกทางให้พรรคความหวังใหม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี มาถึงวันนี้เวลาผ่านไป 23 ปีแล้ว ตนยังเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดมั่นในหลักการและประเพณีปฏิบัติดังเดิมและเชื่อว่ายังจะทำตาม สัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้แก่ประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้กลับมาเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศอีก แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคก็ตามแต่คำพูดบนเวทีปราศรัยก็ถือว่าเป็นคำพูดในนามพรรคซึ่งก็คือเป็นนโยบายของพรรค ถ้าหากกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคไม่เห็นด้วยก็คงจะมีการทักท้วงกันไปแล้วในช่วงนั้น และเท่าที่สังเกตแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสามคนก็ล้วนแต่มีอุดมการณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจทั้งนั้น