ทส. ระดมสมองมุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

2019-05-09 00:05:27

ทส. ระดมสมองมุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisement

ทส. จับมือภาคประชาสังคม ระดมสมอง มุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ ติดตามและทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน บริบทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 7 - 8 พ.ค. 2562 ณ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ด้วยความร่วมมือกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (มพย.) ภายใต้โครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและกระบวนการประชาธิปไตยต่อการจัดทำแผนรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งสนับสนุนโดย สหภาพยุโรป 


ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพยายามผลักดันการดำเนินงานภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายหลังจากที่ทั่วโลก ให้คำมั่นในความตกลงปารีส ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตลอดจนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในปี ค.ศ.2030 ซึ่งกุญแจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ที่การมีส่วนร่วม การประสานงานกับทุกภาคส่วน และการบูรณาการผลประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การผลิต การบริโภค การพัฒนาอุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพอนามัย การดำรงชีวิต เศรษฐกิจ ความสมดุลของระบบโลก ระบบนิเวศน์ และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเกิดฝนผิดฤดูกาล เกิดอุทกภัย เกิดภาวะฝนแล้งยาวนาน เกิดพายุรุนแรงและสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยครั้ง อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นปัญหาที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและพยายามร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งนอกจากการรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทุกคนต้องสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ การสร้างความรู้ความเข้าใจจึงมีความจำเป็น


การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนกำหนดบทบาทและจุดยืนต่อทิศทางของนโยบายและแผนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วง 20 ปี ข้างหน้า มีทิศทางและแนวทางที่ชัดเจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป โดยเน้นที่ 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งล่าสุด กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก มีความสนใจที่จะให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดการขยะพลาสติก เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน “สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ คนอยู่ได้ โลกอยู่ได้” ปลัด ทส. กล่าว 


ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) แกนนำชุมชน จากทุกภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมจำนวน 80 คน