"ลุงตู่" รับข้อเรียกร้อง ดูแลสิทธิแรงงานทั่วถึง

2019-05-01 13:25:21

 "ลุงตู่" รับข้อเรียกร้อง ดูแลสิทธิแรงงานทั่วถึง

Advertisement

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พร้อมรับข้อเรียกร้องวันแรงงานทั้ง 10 ข้อ ยืนยันรัฐบาลดูแลสิทธิแรงงานได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมข้าราชการ ผู้นำแรงงาน และกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้การต้อนรับ โดยมีริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน จำนวน 17 องค์กร เคลื่อนไปตามถนนวิภาวดีเข้าสู่ถนนมิตรไมตรีไปจนถึงอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) ดินแดง




โดยนายกรัฐมนตรีได้รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ จาก นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่ง ประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานแห่ง ชาติ ประจำปี 2562





ก่อนจะกล่าวปราศรัยว่า วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันสำคัญของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโต รัฐบาลจึงมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพแรงงานให้เป็นผู้มีความสามารถเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

อยากให้ทุกภาคส่วนเข้าใจว่ากฎหมายนั้น ไม่ได้ออกมาง่ายๆ ต้องรอ   รัฐบาลเห็นความสำคัญของแรงงาน อยากให้มีคุณภาพสูงตามสเปคตลาด กระทรวงแรงงานก็มีแนวทางช่วยส่งเสริมและสร้างฝีมือ ทุกอย่างจะเป็นไปตามลำดับ และพร้อมสนับสนุนแรงงานทั้งในประเทศและแรงงานส่งออกให้มีประสิทธิภาพ

ย้ำว่ารัฐบาลได้สานความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อให้การจ้างแรงงานไทยไปไกลระดับ สากล ทุกคนจะต้องมีงานทำ แต่ก็ต้องพัฒนาตนเองให้เข้ากับเทคโนโลยีให้ได้ เรียนรู้โลกในยุคปัจจุบัน รวมถึงการวางแผนกันตั้งแต่ระบบการศึกษา ให้ผลิตแรงงานออกมาให้ตรงกับตลาด เพราะทุกวันนี้เข้าสู่ยุค Big Data ระบบข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ



รัฐบาลชุดนี้พยายามทำทุกอย่างมาตลอด 5 ปี แต่ความร่วมมือตรงนี้ต้องมีพื้นฐานของความเข้าใจกัน ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการ ทุกคนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ เพราะกระทบกับแรงงานโดยตรง จะดูแลกันอย่างไร เราต้องทำให้มีความเท่าเทียมกัน โอกาส กฎหมาย ที่กำลังเดินหน้าต่อไป ทุกอย่างที่ทำวันนี้ จะสืบสานต่อในรัฐบาลใหม่ ตนพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ประเทศมีความสงบ เรียบร้อย อีกทั้งใกล้ถึงงานพระราชพิธีต้องทำให้ประเทศเรียบร้อย ผ่านไปอย่างสวยงาม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ให้ประเทศปลอดภัย สงบ เหมือนอย่าง 5 ปีที่ผ่านมา

ส่วนข้อเรียกร้อง 10 ข้อในปีนี้ เป็นงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับพี่น้องแรงงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และพิจารณากำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติให้ครอบคลุมในทุกมิติต่อไป พร้อมทั้งได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ด้วย ขอสัญญาจะทำทุกอย่างให้ดี อย่าเกลียดชังกัน พร้อมจะสานงานต่อจนถึงปีงบประมาณต่อไป









ด้านพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนั้น สามารถดำเนินการไปได้แล้ว 4 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจในระบบประกันสังคม



ส่วนข้อที่เหลืออยู่ระหว่างการทบทวนและพิจารณาข้อกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่ ทั้งระบบการจ้างงาน ได้มีการคืนสิทธิแรงงานตามมาตรา 39 ไปแล้วกว่า 3 แสนคน มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 9 ส่วนทิศทางแรงงานหลังจากนี้รัฐบาลเน้นเรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่า และความปลอดภัย





สำหรับเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 5 เปอเซนต์ ซึ่งค่าแรงของแรงงานไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ส่วนในปีนี้อยู่ในขั้นตอนไตรภาคี ต้องหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งกับนายจ้าง และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องโดยตรง





สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ 10 ข้อ ที่มีการยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย



1) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98



2) ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่องพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมาประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน



3) ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

3.1) การกำหนดเกษียณอายุของลูกจ้างอยู่ที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณทุกประการ

และ 3.2) ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด



4) ให้รัฐบาล ปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้

4.1) ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4.2) ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินรับบำนาญต่อไป และหรือผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ ให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ เหมือนเดิม

4.3) ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณ เดิมค่าจ้าง 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่าง ๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 4.4) เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

4.5) ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15 – 60 ปี ขยายเป็น 15 - 70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ

4.6) ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน



5) ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงาน และยกระดับเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน



6) ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภา โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกองทุนของลูกจ้าง

6.1) ให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ในทุกสถานประกอบกิจการ



7) ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้



8) ให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสาหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งที่ยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ได้รับไม้น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39



9) ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ



และ 10) ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562